เครดิต : คมชัดลึก 15 มี.ค. 2556
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วว่าด้วยเรื่องรอยต่อในการรักษาโรคมะเร็งที่เกิดจากตัวระบบและรอยต่ออันเกิดจากขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษากันไปแล้ว มาต่อกันที่รอยต่อในขั้นตอนการรักษาและรอยต่ออันเกิดจากผู้ป่วยกันเลยดีกว่า ก่อนจะเข้าสู่เรื่องรอยต่อในช่วงที่แพทย์ให้การรักษา หลังจากที่แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว ไม่ควรล่าช้าหรือมัวแต่โอ้เอ้วิหารรายทั้งแพทย์ผู้รักษาและตัวผู้ป่วยเพราะเซลล์มะเร็งแบ่งตัวแบบไม่มีวันหยุดราชการ ยิ่งได้รับการรักษาได้เร็วเท่าไร โอกาสที่จะได้ผลดีในการรักษายิ่งมีมากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจแล้วพบว่าเป็นมะเร็ง ควรได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อ หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลืองและหลอดน้ำเหลืองบริเวณนั้นออกไปทั้งหมดโดยเร็ว ยิ่งทอดเวลาออกไปมาก โอกาสที่เซลล์มะเร็งที่เปรียบเสมือนตัวต่อตัวแตนที่เพิ่งจะโดนแหย่รังจะแพร่กระจายออกไปอวัยวะอื่นยิ่งมีมาก
อีกกรณีที่พบบ่อยคือรอยต่อในช่วงที่จะให้การรักษาคือการต้องรอเตียงห้องผู้ป่วยหนักหรือห้องไอซียูให้ว่างก่อนจึงจะสามารถผ่าตัดใหญ่ให้ผู้ป่วยได้ เพราะการผ่าตัดมะเร็งหลายอวัยวะที่ใช้เวลาผ่าตัดนานหลายชั่วโมง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร หลังผ่าตัดวันสองวันแรกจึงจำเป็นต้องอยู่ห้องไอซียูเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย นอกจากนั้นอีกกรณีที่พบบ่อยคือการรักษามะเร็งหลายอวัยวะจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายวิธีการร่วมกัน เช่น หลังผ่าตัดใหญ่แล้วอาจต้องตามด้วยการฉายรังสี หรือการให้ยาเคมีบำบัดทันทีที่แผลผ่าตัดหายแล้ว โดยทั่วไปก็ประมาณหนึ่งเดือนหลังผ่าตัดควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องไม่ควรล่าช้าเช่นเดียวกัน
สุดท้ายคือรอยต่อที่เกิดจากผู้ป่วย ญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหาย ที่อาจทำให้เกิดรอยต่อได้ทุกขั้นตอน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อันตรายบางโรค อาจทำให้การรักษาโรคมะเร็งล่าช้าออกไปเพราะต้องแก้ปัญหาความผิดปกติให้เรียบร้อยเสียก่อน ในระยะหลังผู้ป่วยหลายรายมักหนีไปรักษาตามคำบอกเล่าของคนใกล้ตัวรอบข้างที่ได้ยินว่าผู้ป่วยคนนั้นคนนี้ไปรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วหาย ทั้งๆ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยในผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกัน หลายรายรักษาทั้งแผนปัจจุบันและตามด้วยการรักษาทางเลือก แต่พอไปบอกกันปากต่อปากกลับให้เครดิตเฉพาะการรักษาทางเลือกอย่างเดียว ยิ่งในยุคปัจจุบันยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่มากมายมหาศาลแต่เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้ผู้บริโภคข้อมูลหลงเชื่อไปรักษาผิดประเภท เสียเวลาและเสียโอกาสทองในการรักษามาตรฐาน หลายรายกลับมาหาการรักษาแผนปัจจุบันเมื่อโรคมะเร็งลุกลามไปมากขึ้น ต้องกลับมาวางแผนการรักษากันใหม่ตามระยะของโรคที่เปลี่ยนไป ทำให้การรักษาล่าช้าและเกิดรอยต่ออย่างชนิดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
เห็นหรือยังครับว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดรอยต่อในการรักษา ยิ่งมีรอยต่อในการรักษามากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลให้ผลการรักษาแย่ลงเท่านั้น มีหลายปัจจัยที่แก้ไขได้แต่อีกหลายปัจจัยต้องยอมรับโดยเฉพาะเรื่องจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่มีมากขึ้นเรื่อยโดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ ที่นับวันจะทำให้รอยต่อในการรักษายิ่งกว้างขึ้นๆ ชนิดที่หลีกเลี่ยงได้ยากนะครับ…ขอบอก