เครดิต : คมชัดลึก 20 ธ.ค. 2556
ต่อจากตอนที่แล้ว พูดถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างมืออาชีพในระดับปัจเจกบุคคลตอนที่ 1 ไปแล้ว อันหมายถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งไปตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ได้กล่าวถึงเรื่องการซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอย่างเจาะลึก ที่เน้นเรื่องประวัติส่วนตัวเรื่องการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาชีพ และที่สำคัญคือเรื่องมีอาการหรืออาการแสดงของ 7 สัญญาณอันตรายหรือไม่ กับการซักประวัติครอบครัวว่า มีใครเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหรือไม่ การตรวจร่างกายอย่างละเอียดที่เน้นเรื่องการตรวจหาแผลเรื้อรัง โดยเฉพาะในช่องปากผู้สูงอายุ ตรวจไฝหรือหูดที่รูปร่างหน้าตาผิดปกติ การคลำหาก้อนทั่วร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า
จุดที่ต้องเน้นในการคลำหาก้อนผิดปกติเป็นพิเศษก็คือ ตำแหน่งที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่มากกว่าตำแหน่งอื่น เช่น ลำคอ ข้อพับต่างๆ ตั้งแต่รักแร้ ไหปลาร้า ขาหนีบ ข้อศอก ข้อเข่า ตรวจท้องคลำตับคลำม้ามว่าโตผิดปกติหรือไม่ คลำหาก้อนผิดปกติในช่องท้อง รวมถึงตรวจภายในรูทวารหนักโดยใช้นิ้วคลำ เพื่อตรวจว่ามีก้อนผิดปกติในรูทวารหรือไม่ และคลำต่อมลูกหมากในเพศชายผ่านทางรูทวาร ถ้าในผู้ชายก็ต้องคลำหาก้อนผิดปกติในถุงอัณฑะด้วย ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในผู้หญิงคือ ต้องคลำหาก้อนผิดปกติบริเวณเต้านม ไหปลาร้า และรักแร้ทั้ง 2 ข้าง รวมไปถึงการตรวจภายในเอาเซลล์ปากมดลูกไปตรวจว่าผิดปกติหรือไม่
มาต่อกันที่การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เริ่มจากการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะอุจจาระ การเจาะเลือด นอกจากการตรวจเลือดตามปกติตามโปรแกรมการตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว อีก 2 ส่วนที่ขาดไม่ได้คือ การตรวจหาว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบี หรือชนิดซีหรือไม่ เพราะจะทำให้เกิดภาวะตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการตรวจว่า มีการติดเชื้อไวรัสหูดหรือไวรัสเอชพีวีจากสารคัดหลั่งในช่องคลอด ก็จะช่วยบอกความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
ส่วนที่ 2 ของการตรวจเลือดคือ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งต้องย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับโรคมะเร็งอย่างเดียวเท่านั้น ภาวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคมะเร็งอีกมากมายก็ทำให้ค่าสูงขึ้นได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นหากตรวจแล้วผลผิดปกติก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจ ประเด็นที่สำคัญคือ การแปลผลการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ และอาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เจาะลึกลงไปมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
มาถึงการตรวจปัสสาวะที่ต้องดูว่ามีเซลล์หน้าตาผิดปกติออกมาในปัสสาวะหรือไม่ การตรวจอุจจาระที่ต้องดูว่ามีไข่พยาธิใบไม้ในตับหรือไม่ เพราะมีโอกาสเกิดมะเร็งทางเดินน้ำดีได้มากกว่าปกติ และการตรวจหาเม็ดเลือดแดงทั้งในปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งสามารถพบได้ในหลายภาวะ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับมะเร็งเพียงอย่างเดียว เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวารหนัก และอื่นๆ อีกหลายภาวะ เพราะฉะนั้นก็เช่นเดียวกับการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าเม็ดเลือดแดงมาจากภาวะใดแน่ หลังจากนั้นก็เป็นการตรวจทางรังสีวินิจฉัยของอวัยวะต่างๆ ตามความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตามเพศและวัย และการตรวจทางรังสีวินิจฉัยของอวัยวะต่างๆ เพิ่มเติมของบุคคลนั้นๆ หลังจากประมวลผลข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ประวัติ ผลการตรวจร่างกาย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการตามที่ว่ามาข้างต้นว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอวัยวะใดเป็นพิเศษกว่าประชาชนทั่วไป
การตรวจคัดกรองมะเร็งแบบมืออาชีพแบบนี้ก็จะเจาะจงตรงความเสี่ยงของแต่ละคนมากกว่าการตรวจแบบทั่วๆ ไป ที่สำคัญละเอียดกว่าการตรวจสุขภาพทั่วไปเยอะนะครับ…ขอบอก