เครดิต : คมชัดลึก
หลายคนที่การขับถ่ายอุจจาระเริ่มผิดปกติ เช่น เคยถ่ายอุจจาระทุกวันช่วงหลังชักมีท้องผูกบ่อยขึ้น หรือถ่ายมีมูกลื่นๆ ปนมากับอุจจาระ พอดีพอร้ายมีเลือดปนออกมาด้วย ชักใจไม่ค่อยดี อยากจะตรวจลำไส้ใหญ่ดูเสียหน่อยเพื่อความสบายใจ
ข้ามขั้นตอนปกติ คือ การซักประวัติตรวจร่างกาย ตรวจทางทวารหนักไป อันดับต่อไปก็คือการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ในคนปกติที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ถ้าไม่พบเม็ดเลือดแดงก็ค่อนข้างสบายใจได้ แต่ถ้าตรวจพบเม็ดเลือดแดงก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจรีบสรุปว่าตนเองเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะยังมีอีกหลายโรคหลายภาวะที่มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เช่น ริดสีดวงทวารหนัก แผลในลำไส้ ติ่งเนื้อในลำไส้ ผนังลำไส้โป่งพองเป็นกระพุ้งและโรคอื่นๆ อีกมาก จึงต้องตรวจขั้นตอนต่อไปคือการเอกซเรย์สวนสารทึบแสงหรือที่นิยมเรียกกันว่าเอกซเรย์สวนแป้ง หรือจะข้ามไปตรวจด้วยการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ให้เห็นกันจะจะไปเลย จะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป
ก่อนการตรวจไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์สวนแป้งหรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แพทย์จะให้ยาระบายมากินก่อนตรวจ 1-2 วันและให้กินอาหารอ่อนเพื่อไม่ให้มีอุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่ บางครั้งอาจมีการสวนล้างลำไส้ใหญ่ร่วมด้วยกรณีที่ยังมีอุจจาระหลงเหลืออยู่มาก การสวนแป้งและลมเข้าไปในทวารหนักและเอกซเรย์เก็บภาพเป็นระยะๆ ตั้งแต่ลำไส้ตรงย้อนขึ้นไปลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นเป็นการเสร็จพิธี เป็นการดูเงาจากภาพเอกซเรย์ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เห็นความผิดปกติที่เยื่อบุลำไส้ใหญ่ที่มีขนาดเล็ก หรือในกรณีที่พบความผิดปกติชัดเจนเข้าข่ายจะเป็นเนื้องอกจากการเอกซเรย์สวนแป้ง ก็ต้องยืนยันด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
เพราะนอกจากจะได้เห็นหน้าเห็นตาก้อนเนื้องอกแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจพิสูจน์อีกด้วย ในรายที่เป็นติ่งเนื้อขนาดเล็กก็สามารถตัดออกได้ทั้งหมด เท่ากับเป็นการรักษาไปในตัวโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่ไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์สวนแป้งหรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ก็ทำเอาคนที่ได้รับการตรวจปวดอึดอัดแน่นท้องระหว่างการตรวจ เพราะต้องอัดลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ระหว่างการตรวจ แต่ถ้าเป็นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อาจเลือกการฉีดยานอนหลับให้สลบระหว่างการตรวจ
ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของหมอดมยาอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเป็นการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพเสมือนจริงภายในลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่า ซีทีโคโลโนสโคปี้ โดยไม่ต้องส่องกล้องแต่อย่างใด แต่ความเที่ยงตรงแม่นยำยังไม่ดีเท่ากับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ใครอยากตรวจเพื่อความสบายใจหรืออยากตรวจเพราะเริ่มมีอาการผิดปกติก็เชิญปรึกษาแพทย์ได้ตามอัธยาศัยเลยนะครับ