เครดิต : คมชัดลึก 22 ก.พ. 2556
หลายคนชอบพูดว่าโรคมะเร็งเป็นโรคของกรรม กรรมที่ว่านี้หาใช่เรื่องเวรเรื่องกรรมอย่างเดียวแบบที่เข้าใจกัน แต่กรรมที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของการเป็นมะเร็งในทางการแพทย์มี 2 กรรมหลักๆ คือพันธุกรรมและพฤติกรรม เรื่องของพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หลายท่านคงเคยได้ยินได้ฟังมามากแล้ว แต่เรื่องโรคมะเร็งจากมรดกตกทอดที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายให้มาทั้งที่เจ้าตัวไม่เต็มใจรับมักไม่ค่อยมีใครอยากเอ่ยถึง
ก่อนอื่นเพื่อความสบายใจต้องบอกก่อนว่าโรคมะเร็งจากพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ไม่ได้พบมากมายอะไรแค่ 5-10% ของมะเร็งที่พบทั้งหมด จากการที่สารพันธุกรรมที่เรียกว่ายีน มีความผิดปกติเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ยีน BRCA1 และ BRCA2 ปกติแล้วมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ ช่วยดำรงเสถียรภาพของสารพันธุกรรมและป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ การผ่าเหล่าของยีนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมและรังไข่ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นอกจากนั้น การผ่าเหล่าของยีน BRCA1 ก็อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในขณะที่การผ่าเหล่าของยีน BRCA2 ก็อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งผิวหนังเมลาโนม่า เป็นต้น
เมื่อลูกหลานที่ได้รับยีนผิดปกติจึงมีการแสดงออกของโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความผิดปกติของยีนมาแต่กำเนิดที่จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะเกิดความผิดปกติของยีนหลายชนิดจนมากพอที่จะทำให้เซลล์เปลี่ยนไปเซลล์มะเร็ง มะเร็งจากกรรมพันธุ์มักพบในกลุ่มผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งกันมากโดยเฉพาะญาติใกล้ชิดและอาจพบมะเร็งได้ในหลายอวัยวะที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่และมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งของอวัยวะเดียวกันก็อาจเกิดจากความผิดปกติของยีนตัวเดียวกัน นอกจากมะเร็งที่เอ่ยถึงข้างต้น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลูกนัยน์ตาชนิดเรติโนบลาสโตม่าที่พบในเด็ก มะเร็งไต ก็เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบว่ามีความผิดปกติของยีนบอกได้เพียงว่า คนคนนั้นมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเป็นมะเร็งชนิดนั้นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่เป็นโรคมะเร็ง ไม่จำเป็นว่าคนที่มีความผิดปกติของยีนจะต้องเป็นโรคมะเร็งทุกคน แต่ความสำคัญอยู่ที่เมื่อทราบแล้วว่าตนเองมียีนผิดปกติดังกล่าว การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและการหมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นสำหรับคนกลุ่มนี้มากกว่าคนปกติทั่วไป ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ไม่ว่าผู้ที่มีความผิดปกติของยีนจะเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ก็ตาม ก็อาจจะมีการถ่ายทอดยีนที่ผิดปกตินี้ไปสู่รุ่นลูกหลานต่อไป
เอาเป็นว่าใครที่มีญาติใกล้ชิดสายตรงเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือญาติใกล้ชิดสายตรงเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันหลายๆ คนทั้งในลำดับญาติผู้ใหญ่หรือในลำดับเจเนอเรชั่นเดียวกัน ก็อย่าใช้ชีวิตอย่างประมาทขาดสติ ต้องห่วงใยดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น เพราะมีโอกาสถูกแจ็กพอตเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนอื่นนะครับ…ขอบอก