เครดิต : คมชัดลึก 7 ธ.ค. 2555
หลายท่านคงจะเคยเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาตรวจเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็ง หลายคนอาจจะยังไม่เคยใช้บริการเพราะยังไม่มีเวลาหรือยังไม่เห็นความจำเป็นเพราะยังไม่มีอาการใดๆ ขณะที่อีกหลายคนอาจเคยได้ใช้บริการแล้ว โดยอาจจะมีการเจาะเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็งอยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพทั่วไปด้วยหรือจากความต้องการของผู้ใช้บริการเองที่อยากตรวจเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็ง และเชื่อว่าหลายคนในจำนวนนั้นคงจะเคยเกิดอาการเครียด วิตกกังวล เมื่อรู้ว่าผลเลือดของตนเองนั้นมีค่าสารบ่งชี้มะเร็งสูงเกินปกติ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มต้นกันเสียก่อนว่าไม่สามารถใช้การเจาะเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็งเพียงอย่างเดียวที่จะบอกแบบฟันธงได้ว่าเป็นมะเร็งนั่นมะเร็งนี่ เพราะวิทยาการความรู้ในปัจจุบันยังไม่สามารถค้นหาสารบ่งชี้มะเร็งที่มีความจำเพาะเจาะจงกับโรคมะเร็งของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเพียงอย่างเดียว สารบ่งชี้มะเร็งที่ตรวจกันอยู่ในทางการแพทย์ยุคปัจจุบันยังไม่มีความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือเพียงพอ เรียกว่าในภาวะอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งก็พบว่ามีค่าสารบ่งชี้มะเร็งสูงได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ ประกอบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น
บรรดาสารบ่งชี้มะเร็งยอดฮิตที่นิยมตรวจเลือดกันบ่อยๆ มีมากมายหลายตัว ตัวอย่างเช่น คาร์ซิโนเอมไบรโอนิคแอนติเจน หรือ CEA เป็นสารที่ปล่อยออกมาจากเซลล์มะเร็งบางชนิด โดยอาศัยหลักที่ว่ามะเร็งเป็นเซลล์ที่มีความผิดปกติในการแบ่งตัว โดยมีลักษณะเหมือนกับเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ มะเร็งที่มีสารตัวนี้ขึ้นสูงได้ก็เช่น มะเร็งของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น ส่วนภาวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งแต่ทำให้ค่า CEA สูงก็เช่น การสูบบุหรี่ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับอักเสบ เป็นต้น สาร PSA หรือโพรสเตทสเปซิฟิคแอนติเจน เป็นสารที่ปล่อยออกมาจากเนื้อต่อมลูกหมากในสภาวะผู้ชายปกติก็ตรวจพบได้แต่ไม่มาก ค่า PSA จะสูงในกรณีมะเร็งต่อมลูกหมากและในภาวะต่อมลูกหมากอักเสบหรือต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็งก็มีค่า PSA สูงได้เช่นกัน ในทำนองกลับกันก็ใช่ว่ามะเร็งของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารทุกราย มะเร็งปอดทุกราย มะเร็งเต้านมทุกรายจะต้องมีค่า CEA สูงกันหมดทุกคน หรือมะเร็งต่อมลูกหมากทุกรายต้องมีค่า PSA สูงหมดทุกคนเช่นกัน สรุปว่าถ้าเจาะเลือดพบว่าค่าสารบ่งชี้มะเร็งสูงก็เป็นสัญญาณเตือนให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้ หรือแม้ว่าผลค่าสารบ่งชี้มะเร็งปกติแต่มีความผิดปกติของระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบชัดเจนก็จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษอย่างอื่นเพิ่มเติมเช่นกัน
จำไว้นะครับตรวจเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็งอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ ถ้าอยากตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ เสียก่อนโดยเริ่มจากการซักประวัติตนเอง ไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ประวัติครอบครัว ตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพทั่วไปอันประกอบด้วยการตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เอกซเรย์เบื้องต้น ถ้าผลการประเมินบ่งบอกว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดใด ก็ต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนั้นเป็นระยะตามนัด ไม่ต้องรอให้มีอาการก่อนแล้วค่อยมาพบแพทย์นะครับ…เชื่อผมสิ