เครดิต : คมชัดลึก 24 ม.ค. 2557
สมัยนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักการตรวจเต้านมที่เรียกว่าแมมโมแกรม บรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ที่ห่วงใยใส่ใจสุขภาพ กลัวว่าตนเองจะเป็นมะเร็งเต้านมหลายรายคงเคยมีประสบการณ์ เคยถูกตรวจด้วยเจ้าเครื่องมือที่ว่านี้มาแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายรายที่ไม่เคยมาตรวจเลย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงของบ้านเรา
มาทำความรู้จักการตรวจแมมโมแกรมกันให้มากขึ้นก่อนดีกว่า การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจทางรังสีวิทยาวิธีหนึ่ง ปัจจุบันเครื่องแมมโมแกรมรุ่นใหม่ในระบบดิจิตอลถูกออกแบบให้ผู้ที่ได้รับการตรวจได้รับปริมาณรังสีที่น้อยมาก ปริมาณรังสีที่ได้รับลดลงจากเครื่องแมมโมแกรมที่ใช้ฟิล์มในระบบเก่า 30-60 เปอร์เซ็นต์ และลดระยะเวลาในการตรวจลง นอกจากนั้นยังได้ความละเอียดของภาพที่สูงกว่า สามารถแยกความแตกต่างของไขมันและเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อที่ผิดปกติที่เป็นมะเร็งได้ ตั้งแต่ยังไม่เป็นก้อนหรือก้อนเล็กมากที่เจ้าตัวเองยังไม่สามารถคลำได้ เรียกว่าสามารถค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี ความเจ็บปวดเต้านมจากการถูกกดบีบด้วยเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตอลก็น้อยกว่าเครื่องในระบบเก่ามาก เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการกดเต้านม จะค่อยๆ กดลงมาที่บริเวณเต้านมอย่างนุ่มนวลกว่าเครื่องที่ใช้ฟิล์ม เพราะฉะนั้นสาวๆ ที่เคยเข็ดขยาดที่ต้องเจ็บระบมเต้านมจากเครื่องรุ่นเก่าก็ไม่ต้องวิตกกังวลกันอีกต่อไป
ส่วนการเตรียมตัวก่อนมาตรวจ ก็ควรงดการทาเครื่องสำอางและแป้งบริเวณต่ำกว่าคอลงมา นอกนั้นก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจแมมโมแกรมคือ ช่วงหลังหมดประจำเดือนใหม่ๆ ควรหลีกเลี่ยงช่วงใกล้ประจำเดือนจะมาหรือระหว่างมีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมคัดตึง ไม่สบายตัวในการตรวจ นอกจากนั้นหลังการตรวจแมมโมแกรม รังสีแพทย์มักแถมด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์เต้านมต่อ เพื่อประกอบกับผลการตรวจแมมโมแกรม ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจมั่นใจในผลการตรวจมากยิ่งขึ้น
ข้อแนะนำในปัจจุบันสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในระดับประชากร ก็ยังเริ่มต้นจากการแนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเป็นประจำ ถ้าพบสิ่งผิดปกติไม่แน่ใจก็ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมโดยผู้เชี่ยวชาญ หากมีข้อบ่งชี้จึงส่งตรวจแมมโมแกรมตามลำดับ ยังไม่สามารถใช้การตรวจแมมโมแกรมตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการตรวจคัดกรองระดับประชากรได้ เนื่องจากยังไม่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามโอกาสตามอัธยาศัย ก็แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมปีละครั้งในสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือในผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือในผู้หญิงที่ได้รับยาฮอร์โมนทดแทนก็ควรได้รับการตรวจที่เร็วขึ้นนะครับ…ขอบอก