เครดิต : คมชัดลึก 6 มี.ค. 2558
เดือนมีนาคมของทุกปี วงการมะเร็งทั่วโลกกำหนดให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยใช้โบสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ เหตุเพราะโรคนี้กำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศก็เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย สถิติผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ในปี พ.ศ. 2551 พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย พบผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ 14.7 รายต่อประชากร 100,000 รายหรือ 4,790 รายต่อปี ในขณะที่พบเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง พบผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ 11 รายต่อประชากร 100,000 รายหรือ 4,144 รายต่อปี โดยอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากดูสถิติย้อนหลังไป 10 ปี ในปี พ.ศ. 2542 อัตราการเกิดโรคในเพศชายและเพศหญิงยังต่ำอยู่ที่ 8.8 และ 7.6 รายต่อประชากร 100,000 รายในเพศชายและเพศหญิงตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชายมีแนวโน้มเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเพศหญิง
การรณรงค์ให้ประชาชนคนปกติมีความรู้ความเข้าใจถึงภัยร้ายของโรคนี้ ตั้งแต่การป้องกันโรคด้วยการกินผักผลไม้เป็นประจำอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง อาหารเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก อาหารที่มีกากใยน้อย รวมถึงอย่าให้ท้องผูกการให้ความรู้เรื่องสำคัญคืออาการเริ่มต้นที่อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น ระบบการขับถ่ายอุจจาระเริ่มผิดปกติ มีท้องผูกบ้างท้องเสียบ้าง สลับกัน เป็นๆ หายๆ โดยไม่ใช่ลักษณะอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ ที่มักถ่ายเป็นน้ำเหลว และเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว อาการจะดีขึ้น ไม่ต้องรอให้มีอาการอื่นๆ ตามมาอีก เช่น ปวดท้องเป็นพักๆ ขนาดลำอุจจาระเล็กลง มีมูกเลือดออกมามากขึ้น หรือคลำได้ก้อนในท้อง การให้ความรู้เรื่องการตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ไม่ต้องรอให้มีอาการอย่างที่ว่านำมาก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้ทั้งชายหญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระปีละครั้ง ควรส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี หรือจะเลือกตรวจเอ็กซเรย์สวนแป้งลำไส้ใหญ่ร่วมกับการส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลายทุก 5 ปีก็ทำได้ ส่วนในโรงพยาบาลที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ก็อาจใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยภาพเสมือนจริงทุก 5 ปีได้เช่นกัน ส่วนในคนที่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็ไม่ต้องรอนานจนอายุ 50 ปีแล้วค่อยมาตรวจ ควรมาตรวจก่อนอายุที่ญาติตนเองเป็นสัก 10 ปี โดยทั่วไปแนะนำว่าควรมาตรวจเมื่ออายุ 40 ปีเพื่อความปลอดภัย
รู้อย่างนี้แล้วก็อย่านิ่งดูดาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ทั้งการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันและหมั่นไปตรวจสุขภาพก่อนที่จะมีอาการ รับรองห่างไกลมะเร็งแน่นอนครับ…เชื่อผมสิ