เครดิต : คมชัดลึก 30 พ.ค. 2557
ในบรรดาโรคมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตหญิงไทย ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุดตามจำนวนผู้ป่วยที่พบบ่อยขึ้น มะเร็งปากมดลูกที่เคยเป็นแชมป์อุบัติการณ์ที่พบบ่อยมายาวนานหลายปี ปัจจุบันตกมาเป็นอันดับสอง ไม่ใช่เป็นเพราะอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมสูงขึ้นมากแต่อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกยังเท่าเดิม แต่ข้อเท็จจริงก็คืออุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกนั้นลดลงชัดเจน
เหตุที่เป็นเช่นนั้น มิใช่เพราะจากโชคช่วยหรือปาฏิหาริย์แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความสำเร็จของโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ 76 จังหวัดที่ดำเนินการโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 จวบจนปัจจุบันปี 2557 กำลังจะครบ 10 ปี จากเดิมก่อนเริ่มโครงการอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 23.4 คนต่อประชากร 100,000 คนลดลงเหลือ 16.7 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยใช้วิธีการตรวจแป๊ปสเมียร์ คือการใช้ไม้พายขนาดเล็กๆ ไปป้ายกวาดเซลล์บริเวณปากมดลูกไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยนักเซลล์วิทยา ดูว่ามีเซลล์หน้าตาผิดปกติอย่างไรหรือไม่ แต่ในความสำเร็จดังที่ว่า ก็ยังมีปัญหาที่แอบแฝงอยู่คือ กลุ่มผู้หญิงไทยที่ขี้อาย ขนาดให้ตรวจคัดกรองฟรีไม่ต้องเสียสตางค์แต่อย่างใดตามที่โครงการกำหนด ก็ยังไม่มาตรวจ ต่อให้เอาช้างมาฉุดเท่าไหร่ก็ไม่มีทางมาตรวจเด็ดขาด เพราะอายแพทย์ ไม่กล้าเปิดเผยของสงวน เรียกว่ายอมตายเสียยังดีกว่าต้องไปขึ้นขาหยั่ง กลุ่มผู้หญิงขี้อายที่ว่านี้โดยรวมตัวเลขอยู่ที่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์
ล่าสุดมีอุปกรณ์สำหรับคุณผู้หญิงที่ขี้อายกลุ่มนี้ สามารถเก็บสารคัดหลั่งในบริเวณปากมดลูกได้ด้วยตนเอง โดยวิธีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือสร้างความเจ็บปวดแต่อย่างใด จากนั้นก็เก็บใส่ถุงใส่กล่องส่งไปรษณีย์ไปตรวจหาหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสหูดหรือไวรัสเอชพีวี เนื่องจากในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก การตรวจด้วยวิธีการนี้มีความไวสูงมาก ถ้าผลตรวจเป็นลบ ก็สบายใจได้มากก็มาตรวจภายในซ้ำกันทุก 3-5 ปี ซึ่งผู้หญิงบ้านเราส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในกลุ่มนี้ แต่หากผลตรวจดีเอ็นเอเป็นบวก ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจแป๊ปสเมียร์ต่อ ถ้าเจอเซลล์ผิดปกติก็ทำการตรวจส่องกล้องปากมดลูกกันต่อไป แต่ถ้าไม่พบเซลล์ผิดปกติกลุ่มนี้ก็ต้องมาตรวจแป๊ปสเมียร์ปีละครั้ง เพราะยังมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากยังมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีบริเวณปากมดลูกอยู่
ท้ายที่สุดหากสามารถลดจำนวนผู้หญิงขี้อายที่ร้อยวันพันปีก็ไม่ยอมมาตรวจเลยลงได้ ให้มาตรวจกันมากขึ้น ซึ่งก็คงยากเอาการ หรือรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้อุปกรณ์ที่ว่าเก็บสารคัดหลั่งได้ด้วยตนเองมาส่งตรวจ ก็จะสามารถค้นหาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นได้มากขึ้นและอัตราการตายของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในภาพรวมก็จะลดลงในที่สุด…เชื่อผมสิ