เครดิต : คมชัดลึก 20 ก.ย. 2556
ภาพผู้ป่วยแขนบวมแขนใหญ่กว่าปกติหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมยังพอให้พบเห็นอยู่เนืองๆ คนทั่วไปส่วนใหญ่อาจจะสงสัยว่าเป็นโรคอะไรถึงได้มีแขนใหญ่กว่าอีกข้าง หลายรายยังมีลักษณะผิวหนังของแขนข้างนั้นที่ผิดปกติ ผิวหนังไม่เรียบเป็นตะปุ่มตะป่ำ บางรายบวมมากจนมีแผลปริแตกหรือมีการติดเชื้อของผิวหนังร่วมด้วย
ภาวะแขนบวมที่ว่านี้เกิดจากการไหลเวียนของน้ำเหลืองผิดปกติ ทำให้มีการคั่งของน้ำเหลือง ส่งผลให้แขนข้างนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบมาตรฐานดั้งเดิมที่ต้องมีการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกไปด้วย ทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองผิดปกติหรือเป็นไปได้ลำบากยากขึ้น โดยปกติแล้วน้ำเหลืองจากปลายแขนไหลกลับสู่หัวใจโดยผ่านต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ เนื่องจากมะเร็งเต้านมมักมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้เป็นประจำ ศัลยแพทย์จึงจำเป็นต้องเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก เพื่อเป็นการกำจัดมะเร็งออกไปให้มากที่สุดไม่ให้หลงเหลือตกค้าง นอกจากนั้นเพื่อไปตรวจดูว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือไม่ เพื่อให้ทราบถึงระยะของโรคมะเร็งและวางแผนรูปแบบการรักษาที่จะให้ต่อหลังการผ่าตัด แต่ก็ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการผ่าตัดดังกล่าวจะต้องแขนบวมเสมอไป จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า โอกาสเกิดแขนบวมหลังผ่าตัดอยู่ที่ 8-56 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2 ปีแรกหลังผ่าตัด โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่แขนบวมเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นโอกาสที่จะเกิดภาวะแขนบวมอยู่ที่ปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ได้จนถึง 30 ปีหลังผ่าตัด พูดง่ายๆ ก็คือโอกาสเกิดภาวะแขนบวมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นโอกาสที่จะเกิดก็น้อยลงโดยลำดับ ในรายที่มีการฉายรังสีบริเวณรักแร้หลังผ่าตัด ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแขนบวมมากขึ้นไปอีก
สำหรับการป้องกันภาวะแขนบวมหลังผ่าตัดหรือหลังการฉายแสงนั้น ได้แก่ การใช้แขนข้างนั้นให้น้อยลง ไม่ยกของหนัก ไม่วัดความดัน ไม่ฉีดยาหรือให้น้ำเกลือหรือเจาะเลือดที่แขนข้างนั้น ส่วนกิจวัตรอื่นๆ ที่ไม่หนักหนาสาหัสจนเกินไปก็สามารถทำได้ตามปกติ ส่วนการรักษาภาวะแขนบวมได้ผลไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะเป็นการนวด การขันชะเนาะอาจได้ผลแค่ชั่วคราว ส่วนการผ่าตัดต่อท่อน้ำเหลืองกับหลอดเลือดดำที่แขนเพื่อให้น้ำเหลืองไหลกลับได้ สามารถลดอาการแขนบวมได้ แต่เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างยากและใช้เวลานาน ปัจจุบันสามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โดยไม่จำเป็น ด้วยการฉีดสีที่เต้านมในระหว่างผ่าตัด เพื่อหาต่อมน้ำเหลืองรักแร้กลุ่มแรกที่เซลล์มะเร็งจะกระจายมาหรือที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลมาตรวจว่ามีเซลล์แพร่กระจายมาหรือไม่ ถ้าต่อมน้ำเหลืองที่ว่ายังปกติอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด ให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแขนบวมโดยไม่จำเป็นนะครับ…ขอบอก