เครดิต : คมชัดลึก 18 เม.ย.2557
แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดเต้านมออกทั้งข้างเรียบร้อยแล้ว จะทำใจยอมรับกับการสูญเสียอวัยวะสำคัญได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความต้องการเต้านมใหม่ เพื่อทดแทนการสูญเสียอวัยวะและการสูญเสียทางจิตใจและที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ แต่ยังอยากมีเต้านมโดยไม่อยากพึ่งพาซิลิโคนภายนอกใส่ในเสื้อยกทรง ก็ยังมีการผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือ แบบแรกการผ่าตัดแบบใช้เต้านมเทียม แบบที่ 2 การผ่าตัดแบบใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายตัวเองมาทำเป็นเต้านมขึ้นมาใหม่ และแบบที่ 3 การผ่าตัดแบบใช้ทั้ง 2 วิธีข้างต้นร่วมกัน มาเริ่มกันที่แบบแรก การผ่าตัดแบบใช้เต้านมเทียม ก็เป็นการผ่าตัดโดยใช้วัสดุเต้านมเทียมเป็นถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ ใส่เข้าไปในชั้นใต้กล้ามเนื้อแบบที่การผ่าตัดเสริมเต้านมเพื่อความงามทำกันทั่วไป แบบที่ 2 การผ่าตัดแบบใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายตัวเองมาทำเป็นเต้านมขึ้นมาใหม่ โดยใช้ทั้งผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อพร้อมทั้งหลอดเลือดที่เลี้ยงเนื้อเยื่อติดกันมาทั้งพวง แล้วย้ายมาวางที่ตำแหน่งเต้านมเดิม โดยนิยมใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังด้านข้างมาทำเต้านมเทียม และแบบที่ 3 การผ่าตัดแบบใช้ทั้ง 2 วิธีข้างต้นร่วมกัน เช่นกรณีที่ผู้ป่วยมีเต้านมเดิมค่อนข้างใหญ่ ก็ทำการย้ายเนื้อเยื่อร่วมกับการเสริมด้วยเต้านมเทียม เพื่อให้เต้านมใหม่มีขนาดใกล้เคียงกับเต้านมข้างที่เหลือ ส่วนการสร้างหัวนมและลานหัวนมขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เป็นการผ่าตัดขั้นตอนสุดท้ายของการทำเต้านมใหม่ โดยอาจใช้การย้ายเนื้อเยื่อของผู้ป่วยเองหรืออาจใช้การสักสีช่วยเหมือนกับการสักเพื่อความสวยงามอื่นๆ โดยปัจจุบันนิยมการสักสีแทนมากกว่าเพราะง่ายและได้ผลดี
ช่วงเวลาของการทำผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่นั้น สามารถทำได้พร้อมกับการผ่าตัดเต้านมออกแล้วสร้างเต้านมใหม่เลยทันที หรือจะมาทำผ่าตัดหลังจากครบการรักษาทุกอย่างแล้วก็ได้ ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ในปัจจุบันการผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ทันทีหลังการผ่าตัดเต้านมออกแล้วนั้น ไม่มีผลทำให้การเริ่มให้การรักษาเสริมหลังการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการฉายแสงหรือการให้ยาเคมีบำบัดทำได้ช้ากว่าปกติ และไม่มีผลทำให้อัตรารอดชีวิตแตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่แต่อย่างใด
การผ่าตัดแต่ละวิธีย่อมมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ส่วนจะเลือกการผ่าตัดวิธีไหนดี วิธีไหนเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เอาเป็นว่าผู้ป่วยที่อยากทำเต้านมใหม่หลังผ่าตัดเต้านมออกทั้งข้าง ก็ต้องปรึกษาขอคำแนะนำตั้งแต่ก่อนที่จะผ่าตัดจากศัลยแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นดีที่สุดครับ…เชื่อผมสิ