เครดิต : คมชัดลึก 3 ต.ค. 2557
นับวันสัญลักษณ์โบว์สีชมพูเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนตุลาคมจะเห็นหลายหน่วยงานหลายองค์กรช่วยกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมกันมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิงไทยมาตั้งแต่ปี 2554 ในขณะที่ในต่างประเทศเค้ามีการรณรงค์เรื่องมะเร็งเต้านมกันเป็นวาระประจำที่ทำกันในเดือนตุลาคมของทุกปีอย่างเป็นทางการมา 22 ปีมาแล้วนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา
ในบ้านเราแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิงไทยรายใหม่ปีละประมาณ 13,000 รายและเสียชีวิตปีละประมาณ 5,000 ราย แปลความให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมวันละ 12 ราย เรียกว่าเสียชีวิต 1 รายทุก 2 ชั่วโมง เห็นตัวเลขน่ากลัวแบบนี้แล้วสาวเล็กสาวใหญ่คงต้องใส่ใจสุขภาพเต้านมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิงต่อเนื่องกันมาหลายปี จากสาเหตุการบริโภคอาหารไขมันสูง การไม่มีบุตร การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน การไม่ได้ให้นมบุตร ภาวะอ้วน ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกายและปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายหลายสาเหตุที่เรียกง่ายๆ ว่าสไตล์การใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก ทำให้สถานการณ์มะเร็งของทั้งโลก ณ เวลานี้ มะเร็งเต้านมพบบ่อยเป็นอันดับสามของมะเร็งทั้งหมดทุกประเภท แต่เป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิงทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่เพศชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน เพียงแต่โอกาสพบได้ไม่บ่อยเท่าเพศหญิงเท่านั้นเอง
การรณรงค์นอกจากจะเน้นเรื่องการป้องกันโรค โดยพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นแล้ว การส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจตรวจเต้านมอย่างถูกวิธีด้วยตัวเองเป็นประจำ ด้วยการสังเกตดูเต้านมเวลาส่องกระจก คลำเต้านมอย่างถูกวิธีโดยใช้บริเวณส่วนปลายของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางทั้งเวลาอาบน้ำและในท่านอน ที่สำคัญอย่าลืมคลำบริเวณรักแร้ ไหปลาร้าและบีบบริเวณหัวนมด้วย หากเจอความผิดปกติหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้ไปพบแพทย์ไปตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวนด์ สำหรับผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ควรมาตรวจแมมโมแกรมปีละครั้ง ส่วนในรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ก็ต้องมาตรวจแมมโมแกรมให้เร็วขึ้นกว่าอายุที่พบว่าญาติเป็นมะเร็งเต้านมสัก 5 ปี ส่วนใครที่อยากตรวจแมมโมแกรมแต่มีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ปัจจุบันก็มีหลายผลิตภัณฑ์ที่เขาแถมบัตรสมนาคุณเมื่อซื้อสินค้าครบตามราคาที่กำหนด ให้ไปตรวจแมมโมแกรมในราคาลดพิเศษที่โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ ส่วนหน่วยงานไหนที่ห่วงใยใส่ใจสุขภาพของพนักงาน อยากให้พนักงานได้ตรวจแมมโมแกรมโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาตรวจถึงโรงพยาบาล เดี๋ยวนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติเค้ามีรถเอกซเรย์แมมโมแกรมระบบดิจิทัลเคลื่อนที่ ไปบริการให้ถึงที่ทำงาน ในราคาเดียวกับที่มาตรวจที่โรงพยาบาลเลยนะครับ…ขอบอก