เครดิต : คมชัดลึก 8 ก.พ. 2556
ได้เวลาบรรจบครบรอบปีอีกครั้งหนึ่งกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก เพื่อบรรเทาปัญหาความเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก เนื่องจากมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนทั่วโลกปีละ 7.6 ล้านคนหรือร้อยละ 13 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลกและพบผู้ป่วยรายใหม่ 12.7 ล้านคน ในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ว่า มะเร็ง-คุณรู้แค่ไหน (Cancer – Did you know?) เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง โดยปีนี้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในความเชื่อที่ผิด 4 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกโรคมะเร็งไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศและสิทธิมนุษยชนเลยทีเดียว ประเด็นที่ 2 โรคมะเร็งไม่ได้พบบ่อยในประเทศที่ร่ำรวยที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ตรงกันข้ามโรคมะเร็งพบได้ในทุกวัย ไม่เลือกคนมีหรือคนจนและเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน ประเด็นที่ 3 เป็นมะเร็งแล้วรักษาไม่ได้ต้องตายสถานเดียว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วโรคมะเร็งหลายประเภทรักษาหายขาดได้ และประเด็นสุดท้าย เป็นมะเร็งเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิตเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่แท้จริงแล้วเราสามารถป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นมะเร็งได้ โดยสรุปองค์กรด้านโรคมะเร็งระดับโลก เค้ามุ่งเน้นเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งกันทั่วโลกมากกว่าปล่อยให้เป็นมะเร็งแล้วมาไล่ตามรักษา
วกกลับมาที่เมืองไทยเรา สถานการณ์โรคมะเร็งบ้านเรายังน่าเป็นห่วงเพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ทุกวันนี้มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละกว่า 100,000 ราย เสียชีวิต 60’000 กว่าราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย มะเร็งที่พบบ่อยสุด 5 อันดับแรกในเพศชายได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนักตามลำดับ ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มว่าอาจมีโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสำหรับพ่อแม่พี่น้องชาวไทย โดยการตรวจหาเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจมีความผิดปกติของลำไส้ จากการศึกษานำร่องโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้ก็รอผลการประเมินเทคโนโลยีว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาก็จะช่วยค้นหาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะเริ่มต้นได้มากขึ้น โอกาสหายขาดก็มีมากการเสียชีวิตก็ลดลง เช่นเดียวกับโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ได้ดำเนินการประสบผลสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในบ้านเราลดน้อยลงโดยลำดับ จนทำให้ประเทศไทยเราได้รับการยอมรับในวงการมะเร็งระดับนานาชาติในความสำเร็จด้านการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเลยนะครับ…ขอบอก