เครดิต : คมชัดลึก 17 เม.ย. 2558
ผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวมหาสงกรานต์ ได้รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ เล่นน้ำสาดน้ำกันคงพอช่วยให้คลายร้อนกันไปได้บ้าง บรรยากาศหน้าร้อนแบบนี้ ต้องระวังอุณหภูมิร่างกายสูงเกินหรือภาวะฮีทสโตรกโดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ชอบอากาศร้อน แต่ความร้อนก็ยังมีประโยชน์อีกหลายด้านโดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง
การใช้ความร้อนรักษาโรคมะเร็ง มีทั้งใช้แบบเฉพาะจุดเฉพาะที่ เฉพาะส่วนหรือทั่วทั้งร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วมักใช้ความร้อนร่วมกับวิธีการรักษาอื่น เช่น การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด ตามคำจำกัดความนั้นอุณหภูมิที่ใช้ไม่สูงเกินกว่า 113 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 45 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในระดับอุณหภูมิดังกล่าวส่งผลให้โปรตีนและโครงสร้างภายในเซลล์มะเร็งถูกทำลาย ไม่ต้องใช้อุณหภูมิสูงลิบเกือบร้อยองศาเซลเซียสแบบที่หลายคนเข้าใจกัน นอกจากนั้นอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังช่วยให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อการฉายรังสีและการให้ยาเคมีบำบัดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยแหล่งกำเนิดความร้อนที่ใช้ในการรักษามะเร็งมีหลายแบบตั้งแต่ คลื่นไมโครเวฟ คลื่นอัลตราซาวด์ความเข้มสูง คลื่นวิทยุหรืออาร์เอฟ เลเซอร์ เป็นต้น โดยแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสีย ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาใช้กับมะเร็งในทุกอวัยวะได้เหมือนกันทั้งหมด
กรณีที่โรคมะเร็งยังเป็นเฉพาะที่ ไม่ว่าจะอยู่ภายนอกที่ผิวหนัง ในอวัยวะที่เป็นท่อกลวง หรือแม้แต่ในอวัยวะที่เป็นก้อนตันในส่วนลึก กลุ่มนี้อาจใช้คลื่นไมโครเวฟ การจี้ด้วยไฟฟ้า คลื่นอัลตราซาวด์ความเข้มสูง คลื่นวิทยุ ทำให้เกิดความร้อนโดยผ่านแท่งโลหะที่แทงเข้าไปในตัวก้อนมะเร็งโดยตรงหรือผ่านกล้องส่องตรวจ กรณีที่โรคมะเร็งเป็นทั้งอวัยวะหรือเป็นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขน ขา ช่องท้อง ก็มีการให้ยาหรือสารน้ำที่ทำให้อุณหภูมิสูงเข้าไปเฉพาะส่วนนั้นๆ ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปทั่วร่างกายก็มีการใช้เทคนิคอื่น เช่น การใช้ตู้อบหรือถุงคล้ายผ้าห่มใส่น้ำร้อน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิทั้งร่างกาย ส่วนการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่การควบคุมระดับอุณหภูมิ ความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่งเป้าหมาย ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาและประเภทของมะเร็งว่ามีการตอบสนองต่อการรักษามากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้การใช้ความร้อนรักษามะเร็งยังไม่เป็นการรักษามาตรฐาน ยังเป็นการรักษาที่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยทางคลินิกเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการใช้ความร้อนรักษามะเร็งของบางอวัยวะที่สภาพผู้ป่วยไม่เหมาะกับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการรักษาเพื่อหวังผลหายขาดและการรักษาแบบประคับประคอง ในรายละเอียดคงต้องว่ากันเป็นของแต่ละอวัยวะๆ ไป
การใช้ความร้อนรักษาโรคมะเร็งไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่มีเครื่องมือตัวใหม่ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อสร้างความร้อนออกสู่ตลาดเป็นระยะจนผู้ป่วยและญาติอาจจะสับสน อยากทราบรายละเอียดที่ถูกต้อง สอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีที่สุดครับ