เครดิต : คมชัดลึก 11 ต.ค. 2556
ย่างเข้าเดือนตุลาคราใด วงการมะเร็งทั่วโลกพากันรณรงค์เรื่องมะเร็งเต้านมกันเป็นวาระประจำที่ทำกันทุกปีอย่างเป็นทางการมา 21 ปีมาแล้วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เดือนนี้ใครที่เดินทางไปต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นมีสัญลักษณ์โบสีชมพูเต็มไปหมด ผู้คนก็พากันสวมเสื้อผ้าหรือติดเข็มกลัดโบชมพู ตามห้างร้านสรรพสินค้าต่างๆ ก็ตกแต่งด้วยสีชมพูกันทั้งบ้านทั้งเมือง
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้นทุกประเทศ ล้วนมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิงต่อเนื่องกันมาหลายปี จากสาเหตุการบริโภคอาหารไขมันสูง การไม่มีบุตร การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน การไม่ได้ให้นมบุตร ภาวะอ้วน ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกายและปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายหลายสาเหตุที่เรียกง่ายๆ ว่าสไตล์การใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก ทำให้สถานการณ์มะเร็งของทั้งโลก ณ เวลานี้ มะเร็งเต้านมพบบ่อยเป็นอันดับสามของมะเร็งทั้งหมดทุกประเภท แต่เป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิงทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเราที่มะเร็งเต้านมได้แซงหน้ามะเร็งปากมดลูกแชมป์เก่าตลอดกาลขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องมา 2 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา แต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิงไทยรายใหม่ปีละประมาณ 13,000 รายและเสียชีวิตปีละประมาณ 5,000 ราย แปลความให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมวันละ 12 ราย เรียกว่าเสียชีวิต 1 รายทุก 2 ชั่วโมง เห็นตัวเลขน่ากลัวแบบนี้แล้วสาวเล็กสาวใหญ่คงต้องใส่ใจสุขภาพเต้านมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม
การรณรงค์ให้สังคมตื่นตัวเรื่องมะเร็งเต้านมด้วยสัญลักษณ์โบสีชมพูด้วยการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ในเดือนตุลาคมนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้หญิงที่ยังไม่เป็นมะเร็งเต้านมหันมาใส่ใจตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุกวัน ตรวจแมมโมแกรมประจำปีในหญิงที่อายุตั้งแต่ 40 ปีหรือในรายที่มีความเสี่ยงสูงควรตรวจแมมโมแกรมให้เร็วขึ้น และยังเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังเป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ ศึกษาวิจัยเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่และเพิ่มอัตรารอดชีวิตให้แก่ผู้ที่ป่วยแล้วให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานยิ่งขึ้น
ในต่างประเทศองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของสุภาพสตรีต่างให้ความร่วมมือในการรณรงค์เรื่องมะเร็งเต้านมกันอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นการแสดงความร่วมรับผิดชอบต่อสังคมหรือการทำซีเอสอาร์อีกวิธีหนึ่ง หลายบริษัทที่ผลิตภัณฑ์ไม่เกี่ยวข้องกับสตรีเพศก็หันมามีส่วนร่วมมากขึ้น หลายประเทศยังขยายวงรณรงค์ไปถึงมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีในเดือนตุลาคมไปด้วยเลย เห็นทีทั้งภาครัฐภาคเอกชนของไทยเรา ควรหันมาร่วมด้วยช่วยกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่เสียทีนะครับ