เครดิต : คมชัดลึก 28 มิ.ย. 2556
ข่าวร้อนในแวดวงการเมืองเวลานี้หนีไม่พ้นเรื่องการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะมีผลโดยตรงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อเกษตรกรชาวนา ที่สำคัญกระแสข่าวเรื่องมีสารก่อมะเร็งในข้าวสารด้อยคุณภาพยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องรีบออกมาชี้แจง
การเก็บข้าวในจำนวนมากนั้นปกติก็มีการรมยาเพื่อกำจัดมอด แมลงตัวเล็กตัวน้อยอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติแต่ประการใด แต่ที่เป็นประเด็นข้าวร้อนในขณะนี้ คงเป็นเพราะมีข่าวเรื่องมีการเก็บข้าวที่ด้อยคุณภาพมีความชื้นสูงหรืออาจจะเก็บข้าวจำนวนมากกว่าปกติไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้อาจเกิดสารก่อมะเร็งปนเปื้อนในข้าวสารถุงที่จำหน่ายตามห้างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีประเด็นสุขภาพ 2 ประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรับรู้ ประเด็นแรก การเก็บข้าวเปลือกหรือข้าวสารคุณภาพต่ำที่ยังมีความชื้นสูงก็เช่นเดียวกับผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดเชื้อรากลุ่มแอสเปอร์จิลัสที่สร้างสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่าอะฟลาทอกซิน แต่เชื้อราชนิดนี้มักขึ้นในผลิตผลทางการเกษตรที่มีน้ำมันมาก เช่น ถั่ว ข้าวโพด หอมแดง และถ้ามีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อนในข้าวสารผู้ซื้อสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายจากมีข้าวขึ้นราอยู่ในถุงและในกระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงมักมีการตรวจสอบคุณภาพข้าวสารเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นช่วงนี้ผู้บริโภคก็ต้องสนใจดูหน้าตาข้าวสารในถุงกันมากกว่าปกติเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ประเด็นที่สุดท้ายที่หลายคนไม่ใคร่สบายใจคือเรื่องสารเคมีที่ใช้ในการรมยากำจัดมอดจะตกค้างมากกว่าปกติ ทำให้ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยปกติแล้วการรมยาเพื่อฆ่ามอดในข้าวจะใช้สาร 2 ชนิดคือ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ทำให้เกิดก๊าซฟอสฟีน และอีกตัวคือแมกนีเซียมฟอสไฟด์ โดยจะนำเจ้าสารที่ว่าไปวางอยู่ใต้ฐานไม้ที่เก็บข้าวสารและใช้ผ้ายางคลุม ซึ่งสารนี้จะระเหยเป็นแก๊สและใช้เวลาในการสลายตัว 5-7 วัน มีสารตกค้างเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก ไม่เป็นอันตรายและหากข้าวยังไม่ได้ขายก็จะมีการรมยาซ้ำทุก 3 เดือน และกระบวนการบรรจุข้าวถุงนั้นจะใช้เวลาประมาณ 7 วันหลังรมยาเสร็จซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สารเคมีระเหยไปหมดแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อ.ย. จะสุ่มตรวจตัวอย่างข้าว 30% ของปริมาณข้าวทั้งหมดว่ามีสารทั้งสองชนิดเหลือตกค้างในข้าวหรือไม่ ที่สำคัญสารเคมีทั้งสองตัวนี้ถูกขึ้นทะเบียนมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงมานานหลายสิบปีนั้น ยังไม่มีหลักฐานทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ว่าเป็นสารที่กระตุ้นหรือก่อให้เกิดมะเร็งแต่อย่างใด
รู้อย่างนี้แล้วก็คงสบายใจมากขึ้น กินข้าวไทยได้อย่างมั่นใจขึ้นนะครับ แต่ถ้าจะให้ชัวร์ก็เลือกผลิตภัณฑ์ข้าวถุงที่มีเครื่องหมายรับรองของ อ.ย. นั่นแหละครับปลอดภัยต่อสุขภาพ…เชื่อผมสิ