เครดิต : คมชัดลึก 18 ก.ค. 2557
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่สร้างความตกอกตกใจแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคุณแม่บ้านที่รักสุขภาพ ที่นิยมใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากของทอดก่อนการบริโภค ด้วยเกรงว่าน้ำมันที่ตกค้างในของทอดจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ครั้นเมื่อมีข่าวว่าในกระดาษทิชชูซับน้ำมันมีสารก่อมะเร็งอยู่ด้วย เลยทำเอาผู้คนสับสนกันเป็นการใหญ่
จากการที่มีข่าวว่ากระบวนการผลิตกระดาษทิชชูนั้น ต้องใช้กระดาษใช้แล้วมารีไซเคิล เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องใช้โซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ในการฟอกเยื่อกระดาษให้มีสีขาว อาจตกค้างมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ สารฟอกขาวอีกตัวก็คือกลุ่มสารคลอรีนที่จะทำให้เกิดสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ในที่สุดบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายท่าน ออกมายืนยันว่ากระดาษทิชชูไม่ได้มีสารอันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่ร่ำลือกันไปผิดๆ เริ่มตั้งแต่กระบวนการฟอกขาวเยื่อกระดาษที่อาจมีสารเคมีตกค้างนั้น แท้จริงแล้วมีกระบวนการล้างมากมายหลายขั้นตอน จนแทบไม่มีทั้งโซดาไฟและสารไดออกซินตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตกระดาษในบ้านเราที่ใช้สารคลอรีนในการผลิตนั้น ปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียงโรงเดียว โรงงานส่วนใหญ่ใช้สารคลอรีนไดออกไซด์ที่ไม่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งไดออกซินแต่อย่างใด ไม่เพียงแต่กระดาษทิชชูหรือกระดาษอนามัยเท่านั้น กระดาษเอ 4 ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ก็มีสารทั้งสองตัวที่ว่าตกค้างน้อยมากเช่นกัน มิหนำซ้ำสารไดออกซินถ้ามีตกค้างในกระดาษจริง ก็ไม่ใช่จะหลุดออกมาได้ง่ายๆ ในการสกัดสารไดออกซินออกจากกระดาษในห้องปฏิบัติการนั้น ต้องใช้เวลาที่ยาวนานและอุณหภูมิที่สูงมากกว่าจะสกัดสารไดออกซินออกมาได้
สรุปว่าเรื่องกระดาษทิชชูซับน้ำมันมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ต่างจากเรื่องขวดน้ำพลาสติกตากแดดทิ้งไว้ในรถที่ลือกันว่ามีสารก่อมะเร็ง ก็ทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องตรงกันนะครับว่า ไม่มีสารก่อมะเร็งแน่นอนครับ…เชื่อผมสิ