เครดิต : คมชัดลึก 29 ส.ค. 2557
ท่ามกลางความสงบของบ้านเมืองที่เริ่มจะเข้าที่เข้าทางแล้วในเวลานี้ แต่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหาได้สงบเงียบไม่ การโฆษณาชวนเชื่อที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในแง่การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งที่หลายคนกลัวกันนักกันหนา โฆษณาการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผู้ป่วยและญาติต่างสับสนกับข้อมูลที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง วันนี้ได้โอกาสขอทำความเข้าใจเรื่องนี้กันบ้างก็ดี
ในทางการแพทย์ การจะได้มาซึ่งบทสรุปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาเหตุของการเกิดโรค การป้องกันโรคที่ถูกวิธี การตรวจวินิจฉัยโรค ตลอดจนการรักษาและการติดตามผลการรักษานั้น ต้องผ่านการศึกษาวิจัยกันอย่างเข้มข้น ใช้เวลายาวนานในการศึกษาวิจัยกว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องนั้นๆ ที่สำคัญในแต่ละขั้นตอนของการศึกษาวิจัยนั้น มีการบอกระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางการแพทย์ว่าอยู่ในระดับใด น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ใครก็ตามที่จะเอาผลงานวิจัยนั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ป่วยและญาติสามารถรับรู้ได้อย่างเปิดเผย เมื่อนำผลงานวิจัยไปใช้จะได้เข้าใจและยอมรับผลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่การศึกษาวิจัยนั้นยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ยืนยันว่าน่าเชื่อถือมากเพียงพอ
การแบ่งระดับหลักฐานทางการแพทย์ที่ใช้ในการอ้างอิงความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนั้น แบ่งเป็น 5 ระดับ เริ่มจากระดับที่ 1 ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เป็นผลงานวิจัยที่มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบในแต่ละกลุ่ม โดยการเลือกสมาชิกในแต่ละกลุ่มทำแบบสุ่มและไม่มีอคติในการเลือก หรือเป็นผลการทบทวนผลงานวิจัยเรื่องนั้นๆ จำนวนมากอย่างเป็นระบบ ระดับที่ 2 มีความน่าเชื่อถือรองลงมา คือพวกผลงานวิจัยที่มีการเปรียบเทียบในแต่ละกลุ่มคล้ายกับระดับที่ 1 ต่างกันตรงที่ไม่ได้ทำการเลือกสมาชิกในแต่ละกลุ่มแบบสุ่ม ทำให้อาจมีอคติในการเลือกสมาชิกที่มีความเหมาะสมกว่าเข้ากลุ่มที่ผู้วิจัยมีความสนใจศึกษา หรือการศึกษาวิจัยที่มีการติดตามเหตุการณ์ที่สนใจศึกษาไปในอนาคต ระดับที่ 3 เป็นผลงานวิจัยที่ศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วย้อนหลังไปในอดีต ระดับที่ 4 เป็นผลงานวิจัยที่เป็นเพียงการรายงานเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้มีการแบ่งกลุ่มในการวิจัยแต่อย่างใด ส่วนระดับที่ 5 ที่มีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด เป็นพวกรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหรือฉันทามติของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลายคน ก็ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนั้นมากยิ่งขึ้นแต่อย่างใด เข้าใจแล้วนะครับว่า กว่าจะได้มาซึ่งข้อสรุปในทางการแพทย์ เขามีหลักการและเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอนตามที่กล่าวข้างต้น เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เวลาที่บริโภคข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ ก็สนใจสอบถามหลักฐานงานวิจัยรองรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการรักษานั้นๆ ว่ามีหรือไม่ ถ้าไม่มีหลักฐานอะไรสนับสนุนเลย ก็กรุณากลับหลังหัน หนีห่างให้ไกลที่สุด แต่ถ้ามีหลักฐานงานวิจัยจริง ก็สนใจดูด้วยนะครับว่าอยู่ระดับไหน น่าเชื่อถือเพียงไร อย่าไปหลงเชื่ออะไรง่ายๆ นะครับ…เชื่อผมสิ