เครดิต : คมชัดลึก 17 ต.ค. 2557
การใช้ความร้อนรักษาโรคมะเร็ง แม้จะไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่มีเครื่องมือตัวใหม่ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อสร้างความร้อนออกสู่ตลาดเป็นระยะ โดยอาศัยหลักการเดียวกันคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในระดับที่ไม่สูงเกินกว่า 113 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 45 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้โปรตีนและโครงสร้างภายในเซลล์มะเร็งถูกทำลาย นอกจากนั้นอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังช่วยให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อการฉายรังสีและการให้ยาเคมีบำบัดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ส่วนการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการควบคุมระดับอุณหภูมิ ความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่งเป้าหมาย ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาและประเภทของมะเร็งว่ามีการตอบสนองต่อการรักษามากน้อยเพียงไร
ในบ้านเราล่าสุด ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หน่วยงานหลักที่สำคัญของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงข่าวผลการวิจัยใช้เครื่องมือออนโคเทอร์เมียในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคอาเซียน เป็นเครื่องมือที่สร้างความร้อนจากคลื่นวิทยุ โดยทำการศึกษาวิจัยการใช้เครื่องมือตัวนี้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ชัดเจนเสียก่อนว่าเครื่องออนโคเทอร์เมียจะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งคนไทยได้มากน้อยเพียงไร แม้ว่าจะมีผลการวิจัยจากในต่างประเทศมาบ้างแล้วก็ตาม โดยเริ่มต้นศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นปัญหากลุ่มใหญ่ของบ้านเรา คือมะเร็งตับและมะเร็งเต้านมในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีการรักษามาตรฐาน จึงจำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อหารูปแบบการรักษาที่ดีที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ที่ใช้เครื่องออนโคเทอร์เมียร่วมกับกับการให้ยาเคมีบำบัด มีการตอบสนองจนก้อนมะเร็งยุบหายหมดร้อยละ 22 ในขณะที่ในกลุ่มควบคุมที่ให้การรักษาตามรูปแบบปกติ ไม่มีผู้ป่วยรายใดที่ก้อนมะเร็งยุบหมด ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยในกลุ่มที่ใช้เครื่องออนโคเทอร์เมีย มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยเครื่องนี้ และระยะเวลาเฉลี่ยของการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาอยู่ที่ 15.3 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมที่ให้การรักษาตามรูปแบบปกติ มีระยะเวลาเฉลี่ยของการมีชีวิตรอดอยู่เพียง 2.2 เดือนเท่านั้น นอกจากนั้นไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เครื่องมือออนโคเทอร์เมียแต่อย่างใด
นอกจากจะเป็นการเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งประเภทอื่นๆ ในบ้านเราอีกด้วย เพราะทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติมีแผนที่จะทำวิจัยการใช้เครื่องออนโคเทอร์เมียในมะเร็งของอวัยวะอื่นอีกนะครับ…เชื่อผมสิ