เครดิต : คมชัดลึก 25 ต.ค. 2556
ฟังดูแล้วเหมือนไม่มีอะไรแปลกใหม่ เมื่อองค์การอนามัยโลกออกมาแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังการสรุปในการประชุมผู้เชี่ยวชาญประจำปีของทบวงวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศณ เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส แต่ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกและทบวงวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศออกมาให้ข่าวสารก่อมะเร็งแบบเหมารวมมลภาวะทางอากาศทั้งหมด แทนที่จะเป็นการแถลงข่าวเฉพาะสารก่อมะเร็งเป็นตัวๆ แบบในปีที่ผ่านๆ มา
สะท้อนให้เห็นภาพว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน สภาวะแวดล้อมทางอากาศทั่วโลกนับวันจะยิ่งวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่เฉพาะในมหานครเมืองใหญ่เท่านั้น ในจังหวัดที่มีควันไฟปกคลุมเป็นประจำก็ไม่ละเว้น ในอากาศก็เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งจำนวนมากเช่นเดียวกัน มีตั้งแต่ควันจากเครื่องยนต์ดีเซล ไอเสียจากรถยนต์ โรงไฟฟ้า ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม จากภาคเกษตรกรรม รวมถึงจากครัวเรือนต่างๆ จะมาเตือนภัยจากสารก่อมะเร็งในอากาศเป็นตัวๆ แบบเดิมคงจะไม่ทันกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วและไม่เหมาะในทางปฏิบัติ เพราะผู้คนที่หายใจอยู่ทุกวี่วัน เค้าไม่สามารถแยกแยะได้ว่าในอากาศมีสารก่อมะเร็งอะไรอยู่บ้าง ที่สำคัญเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลก ต้องช่วยกันรณรงค์ให้ความสำคัญกับเรื่องมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังกันเป็นการด่วน
ทบวงวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศออกมาเน้นย้ำเรื่องมลพิษทางอากาศจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 คือมีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และเป็นสาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอด สถิติในปี พ.ศ. 2553 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงถึง 223,000 ราย อันเป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและมีการเติบโตของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าอากาศพิษยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย
หลายคนอาจเข้าใจว่าควันบุหรี่มีอันตรายมากกว่าอากาศข้างถนนที่รถติด ครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานข้างต้นออกมายืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า มลพิษทางอากาศเป็นแหล่งรวมสารก่อมะเร็งตัวการใหญ่ที่สุด อันตรายมากกว่าการได้รับควันบุหรี่เสียอีก ที่สำคัญคือมันยากที่จะหลีกเลี่ยงในชีวิตประจำวัน เห็นทีบ้านเราต้องมาร่วมกันรณรงค์เรื่องมลพิษทางอากาศอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่าเดิมเสียที ยกตัวอย่างเช่น เข้มงวดเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ที่ปล่อยควันพิษ ส่งเสริมการสวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งเครื่องตรวจสภาพอากาศให้มากขึ้นและมีป้ายรายงานผลสภาพอากาศในถนนที่การจราจรหนาแน่นและในชุมชนแออัดให้ครบทุกจุดทุกทางแยกรถติด และที่สำคัญสามารถรายงานผลได้ถูกต้อง ณ เวลานั้นๆ ถ้าพื้นที่ไหนสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ต้องห้ามรถยนต์เข้าในบริเวณนั้นชั่วคราวจนกว่าสภาพอากาศจะดีขึ้น แบบที่หลายๆ เมืองที่เค้าใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากกว่าบ้านเราเค้าทำกันนะครับ…ขอบอก