เครดิต : คมชัดลึก 14 พ.ย. 2557
อีกคำถามยอดฮิตที่ผู้ป่วยและญาติชอบถามกันเป็นประจำ ว่าเป็นมะเร็งแล้วจะไปรักษาที่ไหนดี นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิ์การรักษากันถ้วนหน้าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ใครที่ไม่มีทางเลือกหรือจะใช้ตามสิทธิ์ที่ตนเองมี ก็ว่ากันไปตามโรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา ส่วนใครที่มีโอกาสเลือกหรือไม่อยากใช้สิทธิ์ที่ตนเองมี ก็อาจไปตรวจรักษาโดยจ่ายเงินเองซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลของภาครัฐและภาคเอกชน ยิ่งระยะหลังมีโรงพยาบาลเอกชนต่างชาติมาโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ตามเวปเพจ ผู้ป่วยเลยยิ่งสับสนไปกันใหญ่
ก่อนจะตอบว่าควรไปรักษามะเร็งที่ไหน คงต้องรู้ก่อนว่าจะรักษามะเร็งของผู้ป่วยรายนั้นอย่างไร ซึ่งก็จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเป็นมะเร็งอะไร อวัยวะไหน ระยะเท่าไหร่แล้ว และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยเรื่องโรคมะเร็งแล้ว ก็คือสภาพร่างกายของผู้ป่วย โรคประจำตัวต่างๆ ที่สำคัญ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ตับแข็ง ถ้าสภาพร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวที่เป็นมากหรือควบคุมโรคไม่ค่อยได้ โอกาสที่จะรักษาได้ตามมาตรฐานก็ลดน้อยลง แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสภาพร่างกาย ก็ให้การรักษาไปตามมาตรฐานของมะเร็งของอวัยวะนั้นตามระยะของโรค ซึ่งหนีไม่พ้นการรักษาตามมาตรฐาน 3 วิธีการหลัก คือการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง อาจใช้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ 2 อย่าง 3 อย่างก็ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของมะเร็งนั้นๆ
โรคมะเร็งส่วนใหญ่มักเริ่มต้นการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจเป็นการผ่าตัดเล็กเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อไปตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน หรือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ตัดก้อนมะเร็งออกจนหมด แล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงแล้วแต่ชนิดของโรค บางกรณีก็ให้ยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายแสงร่วมด้วย ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้ก้อนยุบลงเบื้องต้นก่อนแล้วจึงตามด้วยการผ่าตัด มะเร็งบางชนิดก็ให้แค่ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงอย่างใดอย่างหนึ่ง บางกรณีก็ให้ทั้งยาเคมีบำบัดและการฉายแสงไปพร้อมกันในเวลาเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมีร่างกายที่แข็งแรงพอ เพราะผลข้างเคียงในการรักษาแบบนี้จะมากกว่าปกติ
ส่วนจะเลือกรักษาที่ไหนดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของทีมแพทย์และเครื่องไม้เครื่องมือของโรงพยาบาลนั้น โดยทั่วไปโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่มักมีหมอผ่าตัดอยู่แล้ว บางโรงพยาบาลก็อาจมีอายุรแพทย์โรคมะเร็งด้วยก็สามารถให้ยาเคมีบำบัดได้เลย ส่วนเครื่องมือฉายรังสียังไม่มีในทุกโรงพยาบาลจังหวัด เนื่องจากมีราคาสูงมากเครื่องละหลายสิบหลายร้อยล้านบาท ก็สามารถส่งตัวผู้ป่วยมาฉายแสงต่อได้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคทั้ง 7 แห่งของกรมการแพทย์ โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ส่วนการรักษาใหม่ๆ นอกเหนือจากการรักษาด้วย 3 วิธีการหลัก ต้องย้ำกันอีกครั้งว่ารูปแบบการรักษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบงานวิจัย ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน
สรุปว่าศักยภาพของวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยในการรักษาโรคมะเร็งอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ไม่ต้องไปดิ้นรนหลงผิดเสียเงินเสียทองไปรักษาวิธีการพิสดารในต่างประเทศ เสียเวลาเสียโอกาสทองในการรักษามาหลายคนแล้วล่ะครับ…ขอบอก