เครดิต : คมชัดลึก 28 พ.ย. 2557
เรื่องของเวลาใครๆ ก็รู้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เมื่อผ่านช่วงเวลาที่สำคัญไปแล้วนั้น มนุษย์เราไม่สามารถเรียกร้องหรือขอย้อนเวลากลับไปหาอดีตได้อีก เช่นเดียวกับการรักษาโรคต่างๆ ถ้ารู้ได้เร็วว่าตนเองเป็นโรคอะไรแล้วรีบเข้ารับการรักษา ผลการรักษาก็ยิ่งได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง ถ้ารู้ได้เร็ว รักษาได้เร็วเท่าไหร่ นอกจากจะมีผลต่อการรักษาแล้ว ยังทำให้โอกาสมีเวลาเหลือใช้ชีวิตในโลกใบนี้ในชาตินี้มากขึ้นเท่านั้น
เริ่มต้นจากเมื่อมีอาการผิดปกติที่เรียกว่า 7 สัญญาณอันตราย ที่หากมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์นั้น ให้รีบไปพบแพทย์อันได้แก่ อาการระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดที่เปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบจนเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ใครที่มีอาการใดใน 7 กลุ่มอาการที่ว่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งทุกรายไป แพทย์ต้องทำการตรวจร่างกาย ส่งตรวจอื่นๆ อย่างละเอียดเพิ่มเติม อาจจะเป็นการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ การส่องกล้อง การตรวจทางรังสีวินิจฉัยอื่นๆ ช่วงระยะเวลาการรอผลการตรวจนี้ก็มีความสำคัญอันมีผลต่อการรักษาด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปไม่ควรรอผลนานเกิน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ถ้าปล่อยระยะเวลาเนิ่นนานไป โอกาสที่เซลล์มะเร็งจะออกเดินทางแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ที่ห่างไกล ทั้งทางกระแสเลือด ทางน้ำเหลืองก็ยิ่งมีมากเท่านั้น
ต่อด้วยการรักษา หลังจากที่รู้ผลชัดเจนแล้วว่าเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาด ก็ควรเข้ารับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด โดยทั่วไปไม่ควรนานเกิน 4 สัปดาห์ ในรายที่มะเร็งประเภทนั้นไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดในการรักษา อาจจะใช้การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัดก็ไม่ควรเริ่มต้นการรักษาช้า ไม่ควรรอนานเกิน 4 สัปดาห์ด้วยเช่นกัน ในรายที่ผ่าตัดแล้วจำเป็นต้องให้การฉายแสงและ/หรือการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยตามหลังการผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์เล็กเซลล์น้อยที่หลงเหลืออยู่ ต้องรอให้บาดแผลหายรอให้ร่างกายฟื้นตัวก่อน ก็ไม่ควรรอนานเกิน 6 สัปดาห์หลังวันที่ทำการผ่าตัด
เรื่องของมาตรฐานระยะเวลาการรอคอยผลการตรวจวินิจฉัย และระยะเวลาการรอคอยการรักษาที่ว่ามา ทั้งหมดนี้ ได้ถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านโรคมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับบริการที่มีคุณภาพ ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็วตามหลักวิชาการ อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตได้ยาวนานยิ่งขึ้นและสามารถลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้นอีกด้วยนะครับ…ขอบอก