รู้ทันมะเร็ง : มั่วนิ่มเรื่องมะเร็ง…อีกแล้วครับท่าน : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
เครดิต : คมชัดลึก 25 มี.ค. 2559
จำเป็นต้องกลับมาบอกกล่าวมาตอกย้ำกันเป็นระยะ เพราะปัจจุบันนี้มีพวกชอบแชร์หรือส่งต่อข้อมูลสุขภาพผิดๆ มากขึ้นทุกวัน ประเภทยังไม่ทันได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก็ส่งต่อกันเลย พูดง่ายๆ ว่ายังไม่ชัวร์ก็รีบแชร์เสียแล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นคนแรกๆ ที่เอาข้อความหรือรูปภาพมาแชร์ก่อน หวังว่าจะได้รับคำชื่นชมหรือได้ไลค์จากเพื่อนๆ แต่แท้ที่จริงแล้วกำลังทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว
เริ่มจากเรื่องมั่วนิ่มเรื่องแรกว่า ประเทศไทยเราเป็นมะเร็งมากที่สุดในเอเชีย เป็นมะเร็งตั้ง 7.5 คนจากคน 10 คน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง บ้านเราคงมีผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงถึง 52.5 ล้านคนจากประชากรไทยทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านคน แต่แท้ที่จริงแล้วบ้านเรามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ 102,000 คน
ปกติเวลารายงานอุบัติการณ์จำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ตามมาตรฐานทั่วโลกจะรายงานเป็นจำนวนผู้ป่วยต่อประชากรหนึ่งแสนคน สถิติของประเทศไทยในปี 2554 พบผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย 144.3 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน อยู่แค่อันดับ 5 ในภูมิภาคอาเซียน เป็นรองจากอันดับหนึ่งถึงสี่คือ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ตามลำดับ ส่วนในเพศหญิงพบน้อยกว่าคือ 132.8 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นอันดับ 8 ในภูมิภาคอาเซียน และหากนับทั่วทั้งทวีปเอเชีย ประเทศที่มีอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งโดยรวมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น มองโกเลีย จีน ตามลำดับ ประเทศไทยเราไม่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของเอเชียเลยด้วยซ้ำ
เรื่องมั่วนิ่มเรื่องต่อมาเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินคือ บอกว่ากินอาหารกะทิค้างคืน กินผัดผักค้างคืน กินกล้วยแขก ปาท่องโก๋ ขนมครกจะทำให้เป็นมะเร็ง ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด ล่าสุดยังบอกว่าการใช้กล่องโฟมทำให้คนไทยเป็นมะเร็ง จริงๆ แล้วกล่องโฟมที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีนั้น ทำมาจากสารตั้งต้นที่ชื่อสไตรีน เป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลองโดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอและโครโมโซมแต่ในคนยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน ปัจจุบันองค์การวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศจึงจัดเจ้าสารสไตรีนเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B คือมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์มาตั้งแต่ปี 2530 ยังไม่มีข้อมูลใหม่ๆ มาสนับสนุนว่าเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งในคน เพราะถ้าเป็นสาเหตุจริงๆ เราคงไม่เห็นกล่องโฟมมาใช้บรรจุอาหารอย่างทุกวันนี้ ต้องถูกห้ามนำมาใช้อย่างไม่ต้องสงสัย
พวกมั่วนิ่มแชร์ข้อมูลผิดๆ เดี๋ยวนี้มีพัฒนาการโดยทำเป็นภาพกราฟฟิกให้ดูน่าเชื่อถือ มีการแอบอ้างที่มาของข้อมูลแบบผิดๆ ตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายกับคนกลุ่มนี้ เอาเป็นว่าใครที่ได้รับข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแล้วค่อยแชร์ดีกว่านะครับ