เครดิต : คมชัดลึก 14 ก.พ. 2557
นอกจากความเจ็บปวดรวดร้าวในจิตใจของผู้ป่วยเมื่อทราบข่าวว่าตนเองโชคร้ายต้องเป็นมะเร็งแล้ว ญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดก็มีความรู้สึกทุกข์ใจไม่ต่างกัน เพียงแต่อาจไม่มากเท่าเจ้าตัวเท่านั้น แต่อาการทางกายที่มีมากมายหลายรูปแบบจากตัวโรคมะเร็งเองนั้น อาการเจ็บปวดก็นับเป็นอาการที่พบบ่อยอาการหนึ่งของโรคมะเร็งคือพบประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็ง แม้ว่าอาการนี้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏขึ้นในระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้วก็ตาม
อาการเจ็บปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ สาเหตุจากตัวโรคมะเร็งเองมีการลุกลามไปเนื้อเยื่อข้างเคียงรอบๆ หรือแพร่กระจายไปอวัยวะที่ห่างออกไป ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 65-85 ที่ทำให้เกิดอาการปวดได้บ่อยคือกระจายไปกระดูก มีการทำลายเนื้อกระดูก ทำให้กระดูกยุบตัวและหักในที่สุด ส่วนสาเหตุการปวดจากผลที่ตามมาหลังการรักษาเป็นสาเหตุร้อยละ 15-25 ของอาการปวด เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง อาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืดไปล้อมและดึงรั้งเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณนั้นตามมา หรือจากสาเหตุอื่น เช่น ปวดท้องจากท้องผูก ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
ส่วนการรักษานั้นขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก โดยภาพรวมแล้วร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดนั้นสามารถควบคุมอาการปวดได้ด้วยยาและวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสม การรักษามีตั้งแต่การจัดการกับมะเร็งที่เป็นสาเหตุด้วยการรักษาเฉพาะกับมะเร็งชนิดนั้นๆ เช่น การฉายแสงเมื่อมะเร็งลุกลามไปที่กระดูก การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งลง การผ่าตัดเมื่อมีก้อนมะเร็งไปอุดตันลำไส้ เป็นต้น การรักษาโดยใช้การตัดหรือการบล็อคเส้นประสาทรับความรู้สึก การกระตุ้นเส้นประสาท กายภาพบำบัด จิตบำบัด แต่พระเอกที่สำคัญของการบรรเทาอาการปวดหนีไม่พ้นการใช้ยาระงับความปวด โดยแบ่งเป็น ยาแก้ปวดทั่วไปในกลุ่มที่ไม่ใช่โอปิออยด์ ยาที่แรงขึ้นในกลุ่มโอปิออยด์ที่มีฤทธิ์ลดอาการปวดได้ดีขึ้น และยาเสริมอื่นๆ โดยให้ยาตามความรุนแรงของอาการปวดไล่ไปทีละขั้นตอน
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย การบรรเทาอาการปวดถือเป็นงานหลักของการรักษาแบบประคับประคองที่ต้องให้ผู้ป่วยมะเร็งในระยะนี้มีอาการเจ็บปวดให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ต้องให้ความเข้าใจ เอาใจใส่ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ต้องไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตไปพร้อมกับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวดนะครับ…ขอบอก