เครดิต : คมชัดลึก 31 ก.ค. 2558
ในบรรดามะเร็งอวัยวะต่างๆ ที่พบในบ้านเรานั้น มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ประมาณ 20,000 ราย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเท่าตัว เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศชายและเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิง และเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของทั้ง 2 เพศ โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับเสียชีวิตประมาณ 15,000 ราย เหตุที่คนไทยเป็นโรคนี้บ่อยและมีอัตราการตายสูงนั้นมาจากหลายปัจจัย
ประเด็นแรก ทำไมโรคนี้ถึงพบบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ประการแรกเป็นเรื่องของการลงรหัสโรคที่มีการรวมเอาการวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี มาอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคมะเร็งตับด้วย เพราะอาการของโรคมีความใกล้เคียงกัน มีก้อนเนื้อในตับเหมือนกัน ทำให้บ่อยครั้งไม่สามารถแยกโรคกันได้อย่างชัดเจน ในทางปฏิบัติผู้ป่วยทั้ง 2 โรคมักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว การรักษาจึงเป็นแค่ประคับประคอง ความจำเป็นในการเจาะชิ้นเนื้อที่ตับมาพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหนแน่ จึงไม่มีความจำเป็น ซ้ำร้ายอาจเกิดผลร้ายที่ตามมาจากการทำหัตถการดังกล่าว ดังนั้น แท้จริงแล้วสถิติข้อมูลมะเร็งตับในบ้านเรา จึงมีทั้งมะเร็งเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีรวมอยู่ด้วยกัน ประการที่ 2 สาเหตุของโรคที่ยังไม่รู้แน่ชัด ในขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย ทำให้การป้องกันโรคทำได้ยากมากกว่าโรคมะเร็งที่ทราบสาเหตุชัดเจน หรือมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งเซลล์ตับ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีและซี การดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน สารอัฟลาทอกซินในอาหารแห้งที่ชื้นขึ้นรา และอื่นๆ อีกหลายปัจจัยแต่ไม่สำคัญเท่า
อย่างไรก็ตาม สถิติโรคมะเร็งของไทยเราล่าสุดปี 2554 มีแนวโน้มที่อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับจะลดลง คือ ในเพศชายลดลงเหลือ 34.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนจาก 40.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2551 ส่วนในเพศหญิงลดลงเหลือ 13 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนจาก 16.6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2551 สาเหตุที่ตัวเลขลดลงมาจากผลของการให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแรกเกิดทุกคนฟรี ต่อเนื่องมา 23 ปีตั้งแต่ปี 2535 ทำให้เด็กรุ่นใหม่ต่อจากนี้ไป มีโอกาสเป็นมะเร็งเซลล์ตับลดลง ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมโรคนี้ถึงมีอัตราตายที่สูง ประการแรกคือความรุนแรงของเซลล์มะเร็งตับที่มากกว่าเซลล์มะเร็งอวัยวะอื่น และประการสำคัญคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว มิหนำซ้ำส่วนใหญ่ยังมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย เลยทำให้การรักษายากลำบากมากขึ้น ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากภาวะตับวายหรือภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็งที่มีผลกระทบกับอวัยวะอื่นๆ อีกหลายระบบ มากกว่าที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่ลุกลามไปทั่วร่างกาย
ถึงมะเร็งตับจะเป็นที่สุดใน 2 เรื่องอย่างที่ว่า แต่คงไม่มีใครอยากมีส่วนร่วมกับความเป็นที่สุดแบบนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ก็ห่างไกลมะเร็งตับแล้วล่ะครับ…เชื่อผมสิ