เครดิต : คมชัดลึก 13 ก.ย. 2556
ในบรรดาอวัยวะต่างๆ นอกจากต่อมน้ำเหลืองและปอดแล้ว ตับจัดเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่มะเร็งของอวัยวะอื่นชอบกระจายมาเล่นงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งของอวัยวะในช่องท้องหรือมะเร็งของอวัยวะที่อยู่ต่ำกว่ากะบังลมลงมา เพราะเลือดดำที่ออกจากอวัยวะเหล่านี้ ต้องมาผ่านที่ตับก่อนกลับเข้าสู่หัวใจ เซลล์มะเร็งที่มาตามกระแสเลือดจึงมักมาอาศัยตับเป็นบ้านหลังที่สองอยู่เป็นประจำ
มะเร็งที่กระจายมาที่ตับจากอวัยวะอื่น ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้มาแค่เม็ดเดียว มักมาทีละหลายจุด ทำให้มีก้อนมะเร็งโผล่ที่ตับทั้งสองกลีบ โดยทั่วไปถ้ามีก้อนที่ตับแค่ก้อนเดียวหรือหลายก้อนแต่ยังอยู่ในตับกลีบเดียวกันอยู่ โดยที่ยังไม่มีการลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อีกและมะเร็งตัวแม่ยังสามารถควบคุมได้อยู่ ก็อาจพิจารณาผ่าตัดเอาก้อนที่ตับออกได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งตัวแม่ด้วย
กรณีที่มะเร็งกระจายมาที่ตับมีหลายก้อนในทั้งสองกลีบ การผ่าตัดเอาก้อนที่ตับออกทั้งหมดจึงไม่สามารถทำได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการให้ยาเคมีบำบัดและการรักษาตามอาการแบบประคับประคอง ผลการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งตัวแม่และสูตรยาเคมีบำบัดที่ให้ เช่น มะเร็งตับที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มักตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด หลายรายที่ก้อนมะเร็งที่มีที่ตับหลายก้อน หลังให้ยาก้อนเล็กๆ ยุบหายไป เหลือแต่ก้อนใหญ่ ก็อาจพิจารณาผ่าตัดก้อนที่ตับออกในภายหลัง แต่ถ้าไม่มีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยไม่พร้อม ไม่สามารถให้ยาเคมีบำบัดได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก
เมื่อมะเร็งที่ตับลุกลามมีจำนวนก้อนมากขึ้น เนื้อตับส่วนที่ดีเป็นปกติจึงเหลือน้อยลง ส่งผลให้การทำงานของตับเริ่มแย่ลง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการตัวเหลืองตาเหลืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัสสาวะออกน้อยและเกิดไตวายตามมา การสร้างโปรตีนไข่ขาวจากตับทำได้น้อยลง ทำให้น้ำไหลออกนอกเส้นเลือด เกิดอาการบวม ภาวะท้องมาน น้ำท่วมปอดตามมา การสร้างโปรตีนและปัจจัยที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวลดลง ทำให้เลือดออกง่ายหยุดยาก ที่พบบ่อยคือมีการแตกของหลอดเลือดดำโป่งพองบริเวณหลอดอาหารส่วนปลาย ริดสีดวงทวารหนักแตก บางรายมีภาวะที่ม้ามทำงานมากผิดปกติ ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายที่ม้ามมากขึ้น ส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัวแย่ลงไปอีก สุดท้ายเมื่อตับแย่ลงมากขึ้นจนเกิดภาวะตับวายในที่สุด ผู้ป่วยก็จะเริ่มสับสน ซึมลงจากน้อยไปถึงสภาพโคม่าที่ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า เนื่องจากตับไม่สามารถทำลายและกำจัดสารแอมโมเนียออกจากกระแสเลือดและมีสารนี้ผ่านเข้าไปในสมอง ที่สำคัญหากมีภาวะอื่นแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การเสียเลือด ท้องผูก ก็ยิ่งทำให้อาการตับวายแย่ลงเร็วยิ่งขึ้นอีกนะครับ…ขอบอก