เครดิต : คมชัดลึก 20 พ.ย. 2558
การรักษามะเร็งหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสงนั้น การผ่าตัดกับการให้ยาเคมีบำบัดจัดเป็น 2 ประเภทการรักษาที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด ผู้ป่วยหลายต่อหลายรายหนีไปรักษาด้วยวิธีการอื่น เพราะความกลัวผลที่จะตามมาหลังการรักษาและที่สำคัญคือได้รู้ได้ฟังข้อมูลมาแบบผิดๆ จนหลายรายเสียโอกาสในการรักษาไปอย่างน่าเสียดาย
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเรื่องการผ่าตัดกันก่อน ว่าการผ่าตัดที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่การผ่าตัดเล็ก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลชิ้นเนื้อ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคว่าเป็นมะเร็ง แต่หมายถึงการผ่าตัดเพื่อเป็นการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาดในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ยังไม่แพร่กระจาย ซึ่งมะเร็งของระบบอวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ต้องใช้การผ่าตัดเป็นอาวุธหลักอาวุธแรกในการจัดการก้อนมะเร็งก่อนเสมอ โดยทั่วไปผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุดหลังได้รับการวินิจฉัย นานที่สุดไม่ควรนานเกิน 4 สัปดาห์หลังจากมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเซลล์มะเร็งที่ยังเหลือจะเริ่มแพร่กระจายไปทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางกระแสเลือด ทางน้ำเหลืองและการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง ทำให้โอกาสในการหายขาดจากโรคน้อยลง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่มัวแต่เอ้อระเหยลอยชาย ยังกลัวๆ กล้าๆ ไม่ตัดสินใจ ยังเที่ยวเดินสายหาการรักษาทางเลือกอยู่ ก็อย่ามัวแต่ใจเย็น ต้องรีบตัดสินใจผ่าตัด ก่อนที่โอกาสทองจะหลุดลอยไป
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะเป็นความเชื่อที่ผิดของคนจำนวนไม่น้อยคือ ผ่าตัดแล้วจะทำให้มะเร็งแพร่กระจาย เรื่องนี้มีทั้งจริงและไม่จริงขึ้นกับแต่ละกรณี บางกรณีมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า จะมีเซลล์เล็กเซลล์น้อยกระจายไปอยู่ตามอวัยวะอื่นๆ ก่อนผ่าตัดแล้วหรือไม่ ตัวอย่างที่พบได้บ่อยก็เช่น ตุ่มเม็ดเล็กๆ ขนาดไม่กี่มิลลิเมตร ที่กระจายอยู่ตามเบื่อบุช่องปอดหรือเยื่อบุช่องท้อง ที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยการใช้เครื่องมือเอกซเรย์ต่างๆ ทางรังสีวินิจฉัย บางกรณีมีการลุกลามของมะเร็งไปมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน แพทย์ผ่าตัดเอามะเร็งออกไม่ได้ แต่ไม่ได้บอกความจริงกับผู้ป่วย เพราะญาติขอไว้เกรงว่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจจะยิ่งทรุดลงเร็วไปอีก หลังผ่าตัดอาการเริ่มแย่ลง ก็บอกกันปากต่อปากว่า ที่อาการแย่ลงเร็วแบบนี้ก็เพราะไปผ่าตัดมา ทำให้มะเร็งแพร่กระจาย ทั้งที่โรคนั้นลุกลามไปมากอยู่แล้ว กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่พบบ่อยในบ้านเรา เพราะผู้ป่วยมะเร็งบ้านเราส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการในระยะที่เป็นมากแล้ว หมอผ่าตัดก็เลยตกเป็นจำเลยว่าเป็นต้นเหตุให้มะเร็งกระจาย แบบที่เรียกว่าปิดทองหลังพระยังไงยังงั้น
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่กลัวความเจ็บปวดจากการมีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ ปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งหลายอวัยวะ เค้าใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดทางกล้อง แผลมีขนาดเล็ก ได้ผลการรักษาไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ แต่เจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่า จำไว้นะครับว่าโรคมะเร็งระยะที่ยังไม่แพร่กระจาย ผ่าก่อน หายก่อนนะครับ…ขอบอก