เครดิต : คมชัดลึก 21 มิ.ย. 2556
ไตอวัยวะที่เป็นคู่คือมีไตซ้าย ไตขวาอยู่บริเวณบั้นเอวด้านข้างของกระดูกสันหลังช่วงอกข้อที่ 12 เรื่อยลงมาถึงกระดูกสันหลังช่วงเอวข้อที่ 3 อยู่ด้านหลังช่องท้องคืออยู่หลังเยื่อบุช่องท้อง รูปร่างหน้าตาคล้ายเมล็ดถั่ว มีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกายกลายเป็นน้ำปัสสาวะ ควบคุมความสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ และสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่ช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก
มะเร็งของไตพบได้ไม่บ่อยเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น คือพบเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของโรคมะเร็งทั้งหมด พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า โดยพบได้สูงในช่วงอายุ 55-60 ปี ในเด็กพบมะเร็งไตได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่แต่เป็นเนื้อเยื่อคนละประเภทกัน มะเร็งไตในผู้ใหญ่มีทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อไตและมะเร็งของเซลล์เยื่อเมือกของกรวยไต ประเภทหลังบางครั้งเรียกว่ามะเร็งกรวยไต ซึ่งกรวยไตมีหน้าที่ในการกักเก็บปัสสาวะ ก่อนปล่อยลงท่อไตและลงสู่กระเพาะปัสสาวะในที่สุด มะเร็งกรวยไตมักเกิดร่วมกับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะเร็งของท่อไต
สาเหตุของมะเร็งไตยังไม่ทราบแน่ชัดแต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งไตได้บ่อยได้แก่ การได้รับสารพิษบางชนิดในสิ่งแวดล้อมสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคดเมียม แร่ใยหิน การกินยาแก้ปวดบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน การกินฮอร์โมนเพศบางชนิด สูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในไต และความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่นเดียวกับมะเร็งทุกประเภทคือเมื่อก้อนเนื้องอกยังมีขนาดเล็กมักไม่มีอาการ แต่เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มากขึ้นจึงจะมีอาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวดหลังเรื้อรัง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อ คลำพบก้อนผิดปกติในช่องท้อง ส่วนอาการอื่นพบได้บ้างก็เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โลหิตจาง
สำหรับการตรวจวินิจฉัยก็เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ต่อด้วยการตรวจปัสสาวะเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่มักปนออกมากับปัสสาวะเพราะผู้ป่วยบางรายก็มีเม็ดเลือดแดงออกมาไม่มากจนสีปัสสาวะดูเหมือนปกติ หลังจากนั้นก็ตามด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง การฉีดสีหรือสารทึบรังสีเพื่อดูการทำงานของไตทั้งสองข้างและความผิดปกติของตำแหน่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจไล่เรียงไปจนถึงการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วน ส่วนการรักษาก็เริ่มตั้งแต่การผ่าตัด การฉีดยาเข้าไปยับยั้งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งโดยตรง การฉายแสงจากภายนอก การฝังแร่เข้าไปในตำแหน่งเนื้องอกโดยตรง การให้ยาเคมีบำบัดแบบทั่วไป การให้ยาที่เข้าไปทำลายมะเร็งแบบเฉพาะเจาะจงตรงเป้าหมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง อายุและสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก
ใครที่เริ่มมีอาการดังกล่าวข้างต้นก็รีบไปให้แพทย์ตรวจแต่เนิ่นๆ นะครับ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งไตในระยะเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่มีอาการนะครับ…ขอบอก