เครดิต : คมชัดลึก 22 เม.ย. 2559
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนที่ได้รับการรักษา ต่างก็อยากหายขาดจากโรคมะเร็งกันทั้งนั้น จนเป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้ป่วยมักจะถามแพทย์ผู้รักษาเสมอว่า ตัวเองมีโอกาสหายขาดมั้ย หรือหายขาดรึยัง หลังจากที่รักษาไประยะหนึ่งแล้ว แท้จริงแล้วมีหลายประเด็นที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการหายขาดจากโรคมะเร็ง
ประเด็นแรกเริ่มต้นจากอวัยวะที่เป็นมะเร็งและระยะที่เป็น รวมไปถึงชนิดและความรุนแรงของเซลล์มะเร็ง ต้องเข้าใจก่อนว่ามะเร็งของอวัยวะเดียวกัน ระยะเดียวกันแต่ชนิดของเซลล์มะเร็งที่แตกต่างกัน ก็มีผลต่อพยากรณ์โรคที่ต่างกัน และแน่นอนที่ระยะของโรคที่เป็นน้อยกว่าย่อมมีโอกาสหายขาดมากกว่าระยะที่เป็นมากแล้ว มะเร็งของคนละอวัยวะที่ต่างกันก็มีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันเช่นกัน ประเด็นที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือหลังจากได้การวินิจฉัยที่รวดเร็วแน่นอนแล้ว วิธีการรักษาไม่ว่าจะเป็นวิธีใดต้องทำในระยะเวลาที่รวดเร็วเช่นกัน ที่สำคัญนอกจากความไม่ล่าช้าในการรักษาแล้ว ความสมบูรณ์ในการเอาก้อนมะเร็งออกจากร่างกายให้มากที่สุดและขณะเดียวกันก็ไม่ไปทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ก็เป็นประเด็นที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดในมะเร็งระยะที่ยังไม่ลุกลาม ที่ต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้อและบริเวณข้างเคียงที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออกให้หมด ก็จะส่งผลให้การรักษาอย่างอื่นที่ตามมา ที่ต้องตามเก็บเซลล์มะเร็งที่ยังอาจหลงเหลืออยู่ เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด ให้ได้ผลดีและผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้สูง ตรงกันข้ามการวินิจฉัยที่ล่าช้า การรักษาที่จัดการมะเร็งไม่ราบคาบ โอกาสที่จะหายขาดก็น้อยลงอย่างไม่ต้องสงสัย
หลังจากได้รับการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การที่ผู้ป่วยมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการหายขาดจากโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน มะเร็งหลายอวัยวะแม้ว่าได้รับการรักษาเต็มที่แล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกตามธรรมชาติของมะเร็งนั้นๆ ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะรักษาไม่ดีแต่อย่างใด ระหว่างติดตามการรักษาหากเจอมะเร็งกลับมาใหม่ ก็จะได้รีบจัดการก่อนที่จะกระจายไปหลายอวัยวะ ปกติแล้วก็ต้องติดตามกันไปตลอดชีวิต ซึ่งจะถี่หน่อยในช่วง 1- 3 ปีแรกและนัดห่างขึ้นในปีต่อๆ ไป ส่วนเรื่องที่บอกว่าผลเลือดปกติแล้วแปลว่าหายขาดแล้วนั้น ก็ต้องดูด้วยว่าถ้าผลเลือดค่าสารบ่งชี้มะเร็งของผู้ป่วยรายนั้นสูงกว่าปกติตั้งแต่ก่อนเริ่มรักษา แล้วลงมาระดับปกติหลังการรักษา กรณีเช่นนี้ก็สามารถใช้ผลเลือดในการติดตามการรักษาได้ แต่ในกรณีที่ผลเลือดปกติตั้งแต่ก่อนเริ่มรักษา ก็ต้องใช้การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจทางรังสีวินิจฉัยในการติดตามการรักษา
ก่อนจากขอฝากถึงผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังได้รับการรักษาว่า ผลการรักษาจะหายขาดหรือไม่นั้น เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้า แต่ยังไงก็ยังช่วยยืดชีวิตมากกว่าไม่รักษาเลย หรือหลงไปรักษาผิดทิศผิดทางนะครับ…เชื่อผมสิ