เครดิต : คมชัดลึก 27 พ.ย. 2558
แม้ว่าจะโชคดีขั้นที่หนึ่งแล้วที่ผลการตรวจไม่เป็นมะเร็ง แต่ดันตรวจเจอผลผิดปกติ เช่น มีก้อนที่ไม่ใช่มะเร็งหรือเจอเซลล์ผิดปกติที่ยังไม่เป็นมะเร็งตอนนี้ แต่มีโอกาสที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในอนาคต ทำเอาคนไข้กินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายราย เพราะวิตกกังวลว่าตนเองจะโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่
จริงๆ แล้วในทางการแพทย์ ทั้งกลุ่มที่เซลล์มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งและกลุ่มที่เป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ในความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีเซลล์ที่ผิดปกติหรือเป็นก้อนเนื้องอกผิดปกตินั้น โอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคตหรือจะเป็นแบบเดิมไปเรื่อยๆ นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นความผิดปกติของอวัยวะไหนและอีกหลายปัจจัยอื่น เช่น มีความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมด้วยหรือไม่ อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีโอกาสส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวลงหรือไม่ ซึ่งมีทั้งสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางเคมี ทางรังสี ทางชีวภาพ รวมไปถึงว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ตัวอย่างที่พบได้บ่อยเช่น รอยฝ้าขาวในช่องปากตอนแรกตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ก็ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ผิดปกติในช่องปาก มีฟันบางซี่ไปครูดเสียดสีบริเวณนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด หรือมีสิ่งแวดล้อมทางเคมี เช่น เคี้ยวหมาก สูบบุหรี่เป็นประจำ ก็ทำให้รอยฝ้าขาวกลายเป็นมะเร็งช่องปากได้เช่นกัน
อีกภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยเช่นกัน ก็คือความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูกที่มีโอกาสเป็นมะเร็ง จากผลที่ได้จากการเก็บเซลล์ปากมดลูกไปตรวจ อ่านว่าเป็นเซลล์ผิดปกติแบบไม่จำเพาะเจาะจง พวกนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีแล้วหายไปเอง แต่ถ้ายังมีการติดเชื้ออยู่ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าปกติ กลุ่มนี้อาจจะต้องส่องกล้องขยายดูบริเวณปากมดลูก หรือตรวจติดตามอีก 6 เดือนข้างหน้า ภาวะอื่นๆ ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งในอนาคตที่พบได้ไม่บ่อยเท่า ก็เช่น ความผิดปกติของเซลล์หลอดอาหารส่วนปลาย จากการมีภาวะกรดไหลย้อนเรื้อรัง ก็ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่บางชนิด ทั้งที่มีความผิดปกติของกรรมพันธุ์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคตได้มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความผิดปกติของกรรมพันธุ์ร่วมด้วย
ส่วนพวกที่พบบ่อยในบ้านเราตอนนี้และคนไข้มักจะวิตกกังวลมากว่ามีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ก็คือ คนไข้ที่ตรวจพบก้อนเนื้องอกที่เต้านม ถ้าได้รับการตรวจชิ้นเนื้อแล้วว่าเป็นเนื้องอกหรือเป็นซีสต์ธรรมดา ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นมะเร็งในอนาคต เพราะพวกนี้ไม่มีการกลายเป็นมะเร็งแต่อย่างใด แต่พวกที่ผลการตรวจยังคลุมเครือ ทั้งการตรวจร่างกายและการตรวจเอกซเรย์เต้านมแมมโมแกรม ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นแบบไหนกันแน่ พวกนี้จำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อเพื่อยืนยัน เพราะอาจเป็นมะเร็งอยู่แล้ว ไม่ใช่มากลายพันธุ์ในภายหลัง