เครดิต : คมชัดลึก 2 ต.ค. 2558
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลสำคัญที่มีผลต่อตัวผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมาก หนีไม่พ้นบรรดาญาติพี่น้อง ยิ่งญาติสนิทใกล้ชิดที่อยู่บ้านเดียวกัน เช่น คู่สมรส ลูกหลาน ที่รู้นิสัยใจคอผู้ป่วยเป็นอย่างดี ยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อผลการรักษาที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
ประเด็นแรกเรื่องของกำลังใจ ญาติผู้ป่วยเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการให้กำลังใจผู้ป่วยตลอดทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ทันทีที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ระหว่างการรักษาจนถึงระยะสุดท้ายของโรค ผู้ป่วยรายไหนที่ญาติไม่ค่อยดูแล ไม่เอาใจใส่ ทอดทิ้งให้ผู้ป่วยต่อสู้โรคร้ายเพียงลำพัง ผลการรักษามักไม่ค่อยดี
ประเด็นที่สอง เรื่องการให้คำแนะนำของญาติ โดยเฉพาะคำแนะนำเรื่องการรักษาและการปฏิบัติตัว มีญาติผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไปเชื่อเรื่องการรักษามะเร็งของคนอื่นหรือจากสื่อออนไลน์ พาผู้ป่วยไปรักษาผิดทิศผิดทาง ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นคนจิตใจอ่อนไหวง่าย กลัวการรักษาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่โรคมะเร็งยังเป็นระยะไม่มาก มีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูงหากรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะฉะนั้นญาติที่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ก็อย่าไปให้คำแนะนำที่ผิดๆ เป็นการทำบาปทำกรรมตัดโอกาสการรักษาของคนที่รักไปโดยไม่รู้ตัว
ประเด็นที่สาม ที่มักถูกมองข้ามก็คือ ญาติเป็นบุคคลสำคัญในการพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดหมาย ลำพังแค่ผลจากตัวโรคมะเร็งก็มีผลทางกายและสภาพจิตใจของผู้ป่วยมากพออยู่แล้ว ยิ่งได้รับผลกระทบที่ตามมาจากการรักษาก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยอิดโรยอ่อนเพลียมากขึ้นไปอีก จึงควรมีญาติเดินทางมาด้วยเสมอ
สามประเด็นหลักข้างต้นเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยโดยตรง แต่ในความเป็นจริงนั้น ตัวญาติเองก็ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะคู่สมรสและลูก เรื่องการขาดงานขาดเรียน ขาดรายได้ทั้งจากที่หาได้จากตัวผู้ป่วยเองและจากที่หาได้จากตัวญาติ เพราะฉะนั้นญาติและครอบครัวต้องเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ให้ผู้ป่วยเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นของคนที่เค้ารัก เพราะจะส่งผลต่อการรักษาในที่สุด
ประเด็นสุดท้ายที่มักถูกมองข้ามและไม่ค่อยมีการให้คำแนะนำแก่ญาติก็คือ ผลที่ตามมาในระยะยาวต่อญาติพี่น้องและลูกของผู้ป่วย หลังจากที่ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตแล้ว นั่นก็คือ ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งกับญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ญาติว่า ตนเองมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมหรือมีการติดเชื้อบางชนิดที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งแบบเดียวกับผู้ป่วยหรือไม่ ที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อมแถวนั้นหรือไม่ รวมไปถึงการละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
ธรรมชาติของญาติส่วนใหญ่มักจะดูแลห่วงใยใส่ใจสุขภาพตัวเองดีเฉพาะในช่วงที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ เพราะเห็นภาพคนเป็นโรคร้ายอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว ก็มักจะเผลอไผลปล่อยตัวปล่อยใจ กลับไปใช้ชีวิตอย่างประมาทสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตามเดิม รู้อย่างนี้แล้ว บรรดาญาติๆ ทั้งหลายก็ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองตลอดไปด้วยนะครับ…เชื่อผมสิ