เครดิต : คมชัดลึก 22 พ.ย. 2556
พูดถึงสารกัมมันตรังสี เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงเรื่องร้ายๆ มากกว่าเรื่องดี นับตั้งแต่ผลพวงที่ตามมาของการใช้ระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเดือนมีนาคม 2554 เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีหลังการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้า ที่เกิดตามหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำเอาผู้คนทุกหมู่เหล่าพากันส่ายหน้าปฏิเสธไม่ยอมรับ ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในบ้านเรา
แท้ที่จริงแล้ว สารกัมมันตรังสีใช่ว่าจะมีแต่โทษภัยสถานเดียว ประโยชน์จากการใช้กัมมันตรังสีในทางการแพทย์ก็มีไม่น้อยเช่นกัน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งนั้นมีทั้งช่วยในการวินิจฉัย การบอกระยะของโรคมะเร็ง การรักษา การติดตามการรักษาและการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้สารกัมมันตรังสีในทางการแพทย์ หรือที่ภาษาอย่างเป็นทางการในทางการแพทย์เรียกว่าสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยการให้ผู้ป่วยได้รับสารกัมมันตรังสีในรูปของเหลว โดยการกินหรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย สารกัมมันตรังสีนั้นจะเข้าสู่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่มีความเฉพาะเจาะจงและปล่อยรังสีออกมา มีผลทำให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นได้รับรังสีอย่างเต็มที่โดยตรง ขณะที่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงจะได้รับปริมาณรังสีในระดับต่ำกว่า จึงลดอันตรายจากรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติและทำให้สามารถให้สารกัมมันตรังสีซ้ำได้หลายครั้ง โดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าอวัยวะที่ปกติจะได้รับผลแทรกซ้อนไปด้วย
ตัวอย่างการรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสีที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์โดยใช้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 การรักษามะเร็งตับโดยฉีดสารทึบรังสีและสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 เข้าทางหลอดเลือดแดงที่ตับโดยตรง รวมถึงการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่กระดูก พบว่า 70% ของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษามีอาการปวดลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
การใช้สารกัมมันตรังสีที่กล่าวมาข้างต้นแตกต่างจากการฉายแสงหรือการฉายรังสีที่หลายคนอาจคุ้นเคยมากกว่า ซึ่งทั้ง 2 กรณีนั้นใช้รังสีในการรักษามะเร็งเหมือนกัน ต่างกันตรงที่การฉายแสงหรือการฉายรังสีนั้นมีทั้งการใช้รังสีจากภายนอกโดยใช้เครื่องกำเนิดรังสีปล่อยลำแสงออกไปทำลายเซลล์มะเร็ง กับประเภทการใช้รังสีจากภายในโดยการใส่แร่หรือสารกัมมันตรังสี เช่น อิริเดียม 192 โคบอลท์ 60 ในตำแหน่งมะเร็งโดยตรง ทำให้เนื้องอกได้รับปริมาณรังสีที่สูงและอวัยวะข้างเคียงได้รับรังสีน้อย วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก เป็นต้น
เข้าใจตามนี้แล้วก็ไม่ต้องวิตกกังวล จนกลัวกัมมันตรังสีเกินกว่าเหตุแล้วหนีไปรักษาผิดทิศผิดทาง ทุกสรรพสิ่งทุกชีวิตในโลกนี้ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มี 2 ด้านเสมอ ที่สำคัญต้องใช้ปัญญาในการแยกแยะอย่างมีเหตุผลนะครับ…เชื่อผมสิ