เครดิต : คมชัดลึก 9 พ.ค. 2557
เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยมะเร็งบ้านเราส่วนใหญ่เมื่อมีอาการมาพบแพทย์นั้น มักอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว กล่าวคือมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นคือระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ส่วนอีก 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นการดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่กลุ่มนี้จึงเป็นภารกิจหลัก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยเป็นระบบเท่าที่ควร
แต่ต่อไปนี้ การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคองจะไม่ถูกปล่อยปละละเลยแบบที่ผ่านมาอีกต่อไป เพราะการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหญ่ด้านการควบคุม และป้องกันโรคมะเร็งระดับชาติตั้งแต่ปี 2556-2560 โดยอาศัยแนวทางการป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยระยะลุกลามจะเป็นระบบมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแต่การรักษาตามอาการที่พบบ่อย ตั้งแต่อาการเหนื่อย หอบ ทั้งจากการที่ เซลล์มะเร็งลุกลามมาที่ปอดหรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด จากเซลล์มะเร็งลุกลามมาที่เยื่อหุ้มปอด ต้องให้ออกซิเจน เจาะระบายน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เพื่อให้ผู้ป่วยอาการลดน้อยลง อาการแน่นท้องจากการมีภาวะท้องมานหรือการมีน้ำในช่องท้อง ทั้งจากการที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปทั่วช่องท้อง มีการสร้างน้ำจากเซลล์มะเร็งเอง หรือจากการที่เซลล์มะเร็งลุกลามมาที่ตับมากขึ้นหรือผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ก็ทำให้การสร้างโปรตีนอัลบูมินหรือโปรตีนไข่ขาวจากตับลดลง ทำให้น้ำไหลออกจากหลอดเลือดเกิดภาวะท้องมานขึ้น ก็ต้องช่วยด้วยการเจาะท้องเป็นครั้งคราวเพื่อลดอาการแน่นท้อง อีกอาการที่พบบ่อยคือ อาการซีด เลือดจาง เลือดออกง่าย ทั้งจากการที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง หรือจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ที่พบบ่อยคือมะเร็งลุกลามมาที่ตับมากขึ้น ทำให้ตับไม่สามารถสร้างโปรตีนหรือปัจจัยที่สำคัญในการแข็งตัวของเลือดได้ การรักษาก็ทำได้เพียงให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดทดแทน
อีกอาการหนึ่งที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ก็คือการขาดสารอาหาร ก็ให้น้ำเกลือ สารอาหารทั้งทางการใส่สายในทางเดินอาหารหรือทางหลอดเลือด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เพราะการให้สารอาหารในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแต่ไม่มีการรักษาจำเพาะ อาจเป็นการให้อาหารเซลล์มะเร็งให้เติบโตเร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนั้น อาการปวดที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ต่อไปนี้ต้องมีคลินิกระงับปวดในทุกโรงพยาบาล คลินิกการดูแลรูทวารเทียม มีการออกเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วยและให้คำแนะนำถึงที่บ้าน มีหอผู้ป่วยดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งนอกจากจะให้การรักษาตามอาการสำคัญดังที่กล่าวแล้ว สิ่งที่หลายโรงพยาบาลเริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การนวดเพื่อผ่อนคลาย การดูแลด้านจิตวิญญาณ การทำกิจกรรมทางศาสนาที่เตียงผู้ป่วย การสวดมนต์ การจัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจระหว่างกันสำหรับผู้ป่วยกับญาติและครอบครัว และการขออโหสิกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะลุกลามและระยะสุดท้าย ได้รับการบริการอย่างมีมาตรฐาน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุด ลดความทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้ายเลยนะครับ…ขอบอก