ข่าวปลอม อย่าแชร์! หม้อทอดไร้น้ำมันใช้ปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง

ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อ เกี่ยวกับประเด็น หม้อทอดไร้น้ำมันใช้ปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ จากกรณีที่มีข่าวปรากฏตามสื่อเรื่อง หม้อทอดไร้น้ำมันใช้ปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง โดยระบุว่าเป็นข้อควรระวัง การใช้หม้อทอดลมร้อนมาปรุงอาหารอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลวิชาการไม่พบว่าการใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน ปรุงอาหารเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็ง เนื่องการทำงานของหม้อทอดไร้น้ำมันจะใช้หลักการเป่าลมร้อนดึงความชื้นออกจากอาหารเพื่อให้อาหารสุก และกรอบคล้ายกับการทอดในน้ำมัน (deep-fried) สำหรับประเด็นการเกิดสารก่อมะเร็ง เช่น สารอะคริลาไมด์ (acrylamide) จากการปรุงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารที่มีแป้งเป็นส่วนผสม และประเภทเนื้อสัตว์นั้น ในความเป็นจริงสารเหล่านี้เกิดขึ้นจากกระบวนการทอด ปิ้ง ย่าง อบ หรือวิธีใด ๆ ที่ใช้อุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้อุปกรณ์ชนิดใดปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลให้เกิดสารก่อมะเร็งปนเปื้อนสู่อาหารได้ เช่นเดียวกันการปิ้ง ย่างเนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียม การอบหรือทอดมันฝรั่ง/อาหารที่มีแป้งเป็นส่วนผสมจนกรอบเกิดเป็นสีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น และควรบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนระดับปานกลางและระยะเวลาสั้น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ควรปิ้งย่างจนไหม้เกรียม การลวกมันฝรั่งก่อนการทอดจะช่วยลดการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ และสิ่งสำคัญเราควรบริโภคอาหารให้หลากหลาย โดยเพิ่มวิธีปรุงด้วยการต้มหรือนึ่ง และเน้นอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้นจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จากการตรวจสอบไม่พบว่าการใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน ปรุงอาหารเป็นสาเหตุก่อโรคมะเร็ง…

ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง

ตามที่มีข้อความแนะนำ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ จากกรณีการเผยแพร่คำแนะนำวิธีรักษามะเร็งด้วยตนเอง 3 วิธี ได้แก่ การหายใจเข้าลึกๆ การทำจิตใจไม่ให้เครียด และการงดรับประทานอาหารที่เป็นกรด ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลวิชาการพบว่า ทั้ง 3 วิธี ที่บทความที่อ้างอิง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็ง ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งทำได้ด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ส่วนการหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ได้ออกซิเจนปริมาณมาก การทำจิตใจไม่ให้เครียด การงดบริโภคอาหารที่เป็นกรดและให้บริโภคอาหารที่เป็นด่างนั้น ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยที่ยืนยันว่ามีส่วนในการรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : 3 วิธี ที่อ้างอิงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็ง ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งทำได้ด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี เท่านั้น หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ส่งกำลังใจให้ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง

เดือนมิถุนายน ของทุกปี เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองให้กับผู้รอดชีวิตจากมะเร็งทั่วโลก ซึ่งหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต่างก็ให้การยกย่องและให้เกียรติแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถต่อสู้กับโรคนี้อย่างกล้าหาญและอดทน ผู้ใช้ชีวิตรอดจากโรคมะเร็งนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้ใฝ่รู้ และไม่นิ่งนอนใจเมื่อพบว่าตนเอง   มีอาการที่บ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง 7 สัญญาณ ได้แก่ ระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปร เป็นแผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดที่เปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบจนเรื้อรัง  และเมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง ก็เข้ารับการรักษาและให้ความร่วมมือในการรักษาแผนปัจจุบันเป็นอย่างดี กรมการแพทย์ จึงขอให้กำลังใจกับผู้รอดชีวิตเหล่านี้ โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 221 คน อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่ได้รับการรักษาหายขาดแล้วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีสติ ไม่ประมาทในการบริโภคและการปฏิบัติตัว อีกทั้ง มีบางคนที่เสียสละเวลาส่วนตัวมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรับการรักษา ซึ่งถือได้ว่าผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเหล่านี้      ล้วนเป็นกำลังใจที่สำคัญให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งที่ยังอยู่ในระหว่างการรักษาได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันสังคมไทยหันมาให้ความสนใจผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง  ซึ่งช่วยเป็นแรงผลักดันให้คนไทยส่วนใหญ่หันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การรณรงค์ให้เกิดการคัดกรองโรคมะเร็งให้พบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ เพราะหากปล่อยให้เป็นระยะท้าย ๆ แล้วค่อยมาพบแพทย์ อาจทำให้โอกาสการมีชีวิตรอดจากโรคมะเร็ง ลดน้อยลงได้