มะเร็งช่องปาก เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นใต้ลิ้น และต่อมทอนซิล หลายคนอาจละเลยและคิดว่าเป็นแผลเล็กน้อยในช่องปากน่าจะหายได้เอง ทำให้ไม่ได้สังเกตสัญญาณของมะเร็งในช่องปาก
ข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานจำนวนผู้ป่วยมะเร็งช่องปากรายใหม่ 4214 คน/ปี โดยพบในเพศชายมากว่าเพศหญิงและมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุสำคัญของมะเร็งช่องปากมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การเคี้ยวหมาก การติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV) หรือการมีแผลเรื้อรังในช่องปาก อาการส่วนใหญ่ของมะเร็งในช่องปากพบได้หลายลักษณะ เช่น การมีฝ้าขาวๆ ที่บริเวณใต้ลิ้น เหงือก พื้นช่องปาก เมื่อเป็นนาน ๆ รอยฝ้านั้นจะนูนขึ้นเป็นก้อน หรือกรณีเกิดแผลจะมีลักษณะคล้ายอาการร้อนใน แต่จะมีอาการมากกว่า 1 เดือน มะเร็งของลิ้นหรือลำคอในบางตำแหน่งอาจทำให้เกิดการเจ็บในหูขณะกลืนอาหารได้เพราะมีเส้นประสาทร่วมกัน หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา
มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ หรือสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น หมั่นดูแลใส่ใจสุขอนามัยช่องปากและฟันของตนเองเป็นประจำทุกวัน จัดตารางสุขภาพให้ตนเอง พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ทุก ๆ 6 เดือน หากพบความผิดปกติในช่องปาก อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ การส่องกล้อง และการตรวจยืนยันด้วยการตัดชิ้นเนื้อตรวจพิสูจน์
การรักษามะเร็งช่องปากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพรวมสุขภาพของผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง ระยะของโรคที่แพร่กระจายหรือบริเวณที่เกิดโรคของผู้ป่วย ซึ่งทีมแพทย์จะให้คำแนะนำผู้ป่วยและวางแผนการรักษา อาจมีการผสมผสานวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด และรังสีรักษา กระบวนการรักษาโรคสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้แล้วแต่กรณี ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ในบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น อาการกลืนลำบาก และมีปัญหาในการพูด เป็นต้น