ตามที่มีการเผยแพร่ประเด็นเรื่องต้นหนอนตายหยาก รักษามะเร็งในมนุษย์ได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีคำแนะนำเรื่องสุขภาพที่ระบุว่าสามารถใช้ต้นหนอนตายหยาก มารักษามะเร็งได้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อว่ายังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าหนอนตายหยากสามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ โดยหนอนตายหยาก เป็นพืชสมุนไพรในสกุล Stemona วงศ์ Stemonaceae ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และทางเกษตร ในประเทศไทยหนอนตายหยากมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งอาจมีสารออกฤทธิ์ที่มีสมบัติและปริมาณแตกต่างกัน โดยตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนิยมนำรากของหนอนตายหยากมารับประทานเป็นยาสมุนไพร ซึ่งใช้ได้เป็นบางสายพันธุ์เท่านั้น และต้องผ่านกระบวนการทำลายพิษก่อน โดยสารสำคัญที่พบ คือ สารประกอบกลุ่มอัลคาลอยด์และสารประกอบกลุ่มโรทีนอยด์ สำหรับการใช้สารสกัดจากรากในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง แต่พบเพียงงานวิจัยระดับเซลล์ในห้องปฏิบัติเท่านั้น ทั้งนี้ การรับประทานสมุนไพรเพื่อหวังผลในด้านการรักษาโรคควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและสตรมีครรภ์ควรระมัดระวังในการรับประทานเป็นพิเศษ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าหนอนตายหยากสามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ พบเพียงงานวิจัยระดับเซลล์ในห้องปฏิบัติเท่านั้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข