ตามที่ได้มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กินยาคุมฉุกเฉิน 2 ครั้ง/เดือน มีผลข้างเคียงกระตุ้นเซลล์มะเร็ง และกระทบต่อรังไข่ มดลูก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีคำแนะนำเตือนเรื่องการกินยาคุม โดยระบุว่าที่มีการแชร์ข้อมูลว่าหากกินยาคุมฉุกเฉิน 2 ครั้งต่อเดือน จะทำให้มีผลข้างเคียงกระตุ้นเซลล์มะเร็ง และกระทบต่อรังไข่ มดลูกนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน จะมีผลต่อการกระตุ้นเซลล์มะเร็ง แต่หากร่างกายได้รับปริมาณฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป อาจส่งผลต่อฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์ในร่างกายทำงานผิดปกติและมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มมากขึ้น หรืออาจมีผลข้างเคียงหลังจากรับประทานยาเข้าไป เช่น ปวดบริเวณช่องท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception pill) ใช้รับประทานเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งควรรับประทานยาทันทีหรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ในปัจจุบันยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้นมีหลายชนิด โดยตัวยาที่สำคัญถูกสังเคราะห์เลียนแบบมาจากฮอร์โมน เช่น Levonorgestrel เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (ที่สังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน) โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ ในบางรายหลังจากการรับประทานอาจมีอาการข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบริเวณช่องท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแนะนำให้ใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพต่อการป้องกันสูงสุด
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน จะมีผลต่อการกระตุ้นเซลล์มะเร็ง แต่หากร่างกายได้รับปริมาณฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป อาจส่งผลต่อฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์ในร่างกายทำงานผิดปกติและมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มมากขึ้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข