ข่าวปลอม อย่าแชร์! ต้นอังกาบหนูรักษาโรคมะเร็งได้หายขาด

ตามที่ได้มีข้อความชวนเชื่อเรื่อง ต้นอังกาบหนูรักษาโรคมะเร็งได้หายขาด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรณีคำแนะนำเรื่องต้นอังกาบหนูรักษาโรคมะเร็งได้หายขาด ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลวิชาการพบว่าต้นอังกาบหนูไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งและไม่สามารถนำมาใช้รักษามะเร็งในมนุษย์ได้ ซึ่งต้นอังกาบหนู เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ในตำหรับยาสมุนไพรพื้นบ้านมีกลุ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ฟีโนลิกส์ ฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีนอยด์ จากผลการศึกษาวิจัยระดับเซลล์ในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารนี้อาจมีส่วนในการยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง แต่ผลดังกล่าวเป็นเพียงงานวิจัยเบื้องต้น และยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าต้นอังกาบหนูช่วยรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งหลัก ๆ มี 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ต้นอังกาบหนูไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งและไม่สามารถนำมาใช้รักษามะเร็งในมนุษย์ได้ หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

กินหมูกระทะ เสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด จริงหรือ?

ตามที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความในสื่อต่างๆ ถึงประเด็นเรื่อง กินหมูกระทะ เสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น ว่าในปัจจุบันประชาชนนิยมรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างและเมนูหมูกระทะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาหารที่ถูกปรุงสุกโดยผ่านความร้อนจนไหม้เกรียมจะพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่หลายชนิด ได้แก่ สารไนโตรซามีน (Nitrosamines) สารกลุ่มพัยโรลัยเซต (Pyrolysates) และสารในกลุ่มของพีเอเอช (PAHs) โดยการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งจะพบได้ในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร พบในควันที่เกิดจากการปิ้งย่างของอาหารและควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเตาถ่าน รวมทั้งพบการปนเปื้อนตามเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรมควัน ซึ่งหากรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างเป็นประจำ สารก่อมะเร็งจะเข้าไปสะสมในร่างกายอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ทั้งนี้หากมีการรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างให้ตัดในส่วนที่ไหม้เกรียมออกก่อนและปรุงอาหารโดยไม่ใช้ความร้อนสูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ควรลดปริมาณการรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างลงและเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800

ข่าวปลอม อย่าแชร์! การดื่มน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มเย็น หลังรับประทานอาหาร เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง

ตามที่มีการส่งต่อข้อความเตือนในประเด็นเรื่องการดื่มน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มเย็น หลังรับประทานอาหาร เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ จากกรณีที่มีคำเตือนที่กล่าวว่าน้ำเย็นเมื่อรวมกับอาหารที่รับประทานเข้าไปจะเกิดการจับตัวของไขมันเป็นก้อนและเกาะตามผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการดื่มน้ำเย็นหลังรับประทานอาหารเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง โดยร่างกายของคนเราจะมีอุณหภูมิอยู่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส เมื่อดื่มน้ำเย็นเข้าไป ร่างกายจะมีกลไกที่สามารถปรับอุณหภูมิของน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเทียบเท่าอุณหภูมิของร่างกายได้ในระยะเวลาอันสั้น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าการดื่มน้ำเย็นหลังรับประทานอาหารจะมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบการย่อยอาหาร หรือทำให้มีไขมันเกาะตามผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้จนพัฒนากลายเป็นมะเร็ง การดื่มน้ำเย็นช่วยดับกระหายและทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น การดื่มน้ำเย็นจัดในเวลาอันรวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะชั่วขณะได้ อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหารได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าการดื่มน้ำเย็นหลังรับประทานอาหารจะมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบการย่อยอาหาร หรือทำให้มีไขมันเกาะตามผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้จนพัฒนากลายเป็นมะเร็ง

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้โรลออนทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ใช้โรลออนทำให้เป็นมะเร็งเต้านม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ ตามที่มีข้อความว่า โรลออนที่ใช้กันอยู่นั้น มีสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรท ที่เป็นสารก่อมะเร็งเต้านมผสมอยู่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบข้อมูลวิชาการ พบว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใช้ลดการเกิดกลิ่นตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีส่วนประกอบ เช่น สารลดเหงื่อ กรดเบนโซอิค สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเป็นสารที่ใช้ลดการหลั่งเหงื่อทำให้ผิวหนัง และรูขุมขนบริเวณที่ทาอุดตัน สารนี้มักจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไฮเดรท ซึ่งมีความกังวลว่าสารนี้อาจตกค้างที่ผิวหนังบริเวณใต้วงแขนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สารระงับเหงื่อ/สารระงับกลิ่นกายมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม อีกทั้งการใช้สารระงับการหลั่งเหงื่อเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้เฉพาะจุดซึ่งเหงื่อยังคงถูกขับออกบริเวณอื่นของร่างกายได้จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทั้งนี้แนะนำให้ควรดูสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์โรลออน เช่น น้ำหอม สารกันบูด เพื่อสังเกตอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองต่าง ๆ บริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ในผู้ที่มีกลิ่นตัวมากควรรักษาสุขอนามัยให้สะอาด และอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกลิ่นตัวเป็นประจำ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02…

ดื่มชาที่ร้อนเกินไป เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร จริงหรือ?

ตามที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความในสื่อต่างๆ ถึงประเด็นเรื่อง ดื่มชาที่ร้อนเกินไป เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง จากข้อมูลทางวิชาการที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบพบว่ามีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าดื่มชาที่ร้อนเกินไปเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ ซึ่ง ชา เป็นเครื่องดื่มที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก ชามีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ คือ คาเทคชินส์ (catechins) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิสูงหรือร้อนเกินไป (อุณหภูมิที่มากกว่า 65 องศาเซลเซียล) อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดอาหาร และหากดื่มเป็นประจำ จะเกิดการอักเสบเรื้อรัง และเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร จึงขอแนะนำให้ควรดื่มเครื่องดื่มเมื่ออุ่นพอดี ไม่ร้อนจัด และควรดื่มแบบช้าๆ ทีละนิด เพื่อไม่ให้ความร้อนทำลายผนังหลอดอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800