ข่าวปลอม อย่าแชร์! สมุนไพรพะยูง มีสรรพคุณเป็นยาแก้มะเร็ง

ตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏในสื่อออนไลน์ ในประเด็นเรื่อง สมุนไพรพะยูง มีสรรพคุณเป็นยาแก้มะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรณีการเผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อถึงสมุนไพรพะยูง ว่ามีสรรพคุณเป็นยาแก้มะเร็งได้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สืบค้นข้อมูลและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าพะยูงรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ เนื่องจากพะยูง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierre. จากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีการนำเปลือกต้นหรือแก่น และรากของพะยูงในการแก้พิษไข้ แก้เบาหวาน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคปากเปื่อย เป็นต้น  ดังนั้นควรศึกษารายละเอียดด้านสรรพคุณ ชนิดของสมุนไพร ฤทธิ์ทางเภสัช และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าพะยูงรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ เนื่องจากพบว่าการนำเปลือกต้นหรือแก่น และรากของพะยูงใช้ในการแก้พิษไข้ แก้เบาหวาน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคปากเปื่อย เท่านั้น หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  

ข่าวบิดเบือน สารเบนซีนถูกปล่อยสู่ห้องโดยสารรถยนต์ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง

ตามที่ได้มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สารเบนซีนถูกปล่อยสู่ห้องโดยสารรถยนต์ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่าหากจอดรถตากแดด ก่อนเปิดแอร์บนรถต้องระบายความร้อนอย่างน้อย 2 -3 นาทีก่อน เพื่อลดการเกิดสารเบนซีน ต้นเหตุการเกิดโรคมะเร็งนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมีบางส่วนที่ไม่เป็นจริง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสรุปได้แน่ชัดว่าความร้อนจากแสงแดดทำให้อุปกรณ์ในรถปล่อยสารเบนซีนออกมาสู่ห้องโดยสารรถยนต์ ในระดับที่ทำให้เป็นพิษต่อร่างกายจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง แต่หากจำเป็นต้องจอดรถในที่อุณหภูมิสูง ควรลดกระจกลงเพื่อระบายความร้อนและให้อากาศภายในรถกระจายออกไปด้านนอก โดยเบนซีน จัดเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในกลุ่มอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับเป็นตัวทำละลายในการผลิตทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก ยาฆ่าแมลง สีย้อมผ้า สี และหมึกพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งสารเบนซีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายจากหายใจ หากได้รับในปริมาณสูงจะทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน เช่น เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ วิงเวียนศีรษะ และทำให้หมดสติ หรืออาจเสียชีวิตได้ หากได้รับสารเบนซีนเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการเรื้อรัง เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกิดภูมิแพ้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ประกาศค่ามาตรฐานเฝ้าระวังสำหรับเบนซีนในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 7.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) แต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่าที่ปลอดภัยสำหรับการสัมผัสสารเบนซีนในระยะยาวทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลการวิจัยคุณภาพอากาศในห้องโดยสารรถยนต์พบสารเบนซีนในระดับที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิและความกว้างของห้องโดยสาร รวมถึงอายุการใช้งานของรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ข้อมูลที่สามารถสรุปได้ว่าความร้อนจากแสงแดดทำให้อุปกรณ์ในรถปล่อยสารเบนซีนออกมาในระดับที่ทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย…

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ขัดผิวแบบแห้ง ช่วยถอนพิษผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ตามที่มีการเผยแพร่วิดีโอลงโซเชียลมีเดียซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ขัดผิวแบบแห้ง ช่วยถอนพิษผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรณีการบอกสรรพคุณของการขัดผิวแบบแห้งว่า เป็นเทคนิคที่สามารถถอนพิษสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สืบค้นข้อมูลทางวิชาการและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันว่าการขัดผิวแบบแห้งสามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ ทั้งนี้ การขัดผิวแบบแห้ง หรือ Dry Brush Exfoliation คือ การขัดผิวด้วยแปรงขัดผิวขณะที่ตัวยังแห้งก่อนอาบน้ำ เป็นการกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกด้วยวิธีทางกายภาพ และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและต่อมน้ำเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขัดผิวเพื่อประโยชน์ทางด้านความสวยงาม ไม่ใช่เพื่อรักษาโรคแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา เช่น ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ได้รับการฉายรังสี ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาก่อน ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จากการสืบค้นข้อมูลวิชาการ พบว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันว่าการขัดผิวแบบแห้งสามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ตามที่มีการเผยแพร่เตือนประเด็นเรื่องริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรณีคำเตือนเรื่องสุขภาพที่ระบุเป็นริดสีดวงจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่าโรคริดสีดวง ไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งริดสีดวง เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนัก หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่มีการบวมพองยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน เกิดบริเวณเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก และริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่าง มีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานเนื้อแดงเนื้อแปรรูปเป็นประจำ อาหารกากใยน้อย อาหารปิ้งย่างรมควัน ตลอดจนขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือดหรืออาจถ่ายเป็นเลือดสดๆ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง/ถ่ายไม่สุด ขนาดของลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800 บทสรุปของเรื่องนี้คือ…

กินปลานิลดิบ เสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จริงหรือ?

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กินปลานิลดิบ เสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง ปลาน้ำจืดมักจะมีพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดแล้วว่าพยาธิชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้นการรับประทานปลาน้ำจืดดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีการปนเปื้อนพยาธิใบไม้ตับ อาจส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ จึงไม่ควรรับประทานปลาน้ำจืดโดยเฉพาะปลาที่มีเกล็ด แบบดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ โดยอาหารที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ได้แก่ ก้อยปลาดิบ ปลาส้มดิบ ปลาร้าดิบ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800

ผู้ป่วยโรคอ้วน มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนปกติ จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้ป่วยโรคอ้วน มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนปกติ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง ผู้ป่วยโรคอ้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนปกติซึ่งพบว่าข้อมูลมีความถูกต้อง โดยโรคอ้วนนั้น (Obesity) เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไป และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต กรรมพันธุ์ อายุ หรือ ปัจจัยทางการแพทย์ที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะอ้วน และปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เป็นต้น โรคอ้วนยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหลายด้าน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้หญิงอ้วนวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง เนื้อเยื่อไขมัน (Fat tissue) จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักของผู้หญิง ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้หญิงผอม ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีระดับฮอร์โมนอินซูลินที่สูง อาจกระตุ้นให้เซลล์พัฒนาผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (nci.go.th) หรือโทร. 02 2026800