ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าการรับประทานใบกัญชาสดหรือสารสกัดกัญชาช่วยยับยั้งการแพร่กระจายหรือรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์
ข้อสรุป : ข่าวปลอม
ผลกระทบ : พืชกัญชามีสารประกอบทางเคมีหลายชนิด โดยกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) เช่น Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) เป็นกลุ่มสารสำคัญที่มีข้อมูลนำมาใช้ทางการแพทย์ ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงงานวิจัยระดับเซลล์และสัตว์ทดลองในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น ส่วนการผลศึกษาวิจัยทางคลินิกหรือการศึกษาในมนุษย์มีจำนวนน้อยจึงมีหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่เพียงพอและไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าการรับประทานใบกัญชาสดหรือสารสกัดจากกัญชาจะสามารถยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งหรือรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลการใช้กัญชาในการบำบัดอาการข้างเคียงในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด /หรือในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เช่น การใช้กัญชาเพื่อลดอาการคลื่นไส้ บรรเทาอาการปวด เป็นต้น
ข้อแนะนำ : หากต้องการใช้สมุนไพรควรศึกษารายละเอียดด้านสรรพคุณ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอมดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ http://www.nci.go.th/ หรือโทร. 02 2026800
หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข