ข่าวปลอม!! อย่าแชร์!! ความร้อนบำบัดโดยใช้ก้อนถ่านหุงต้มสามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ทุกระยะและทุกอวัยวะของร่างกาย

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้ความร้อนจากถ่านหุงต้มช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ ข้อสรุป : ข่าวปลอม การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีให้ความร้อนเฉพาะที่ (Hyperthermia) คือ การใช้คลื่นกำเนิดความร้อน เช่น คลื่นวิทยุ เพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกายหรือเนื้อเยื่อทำให้เกิดความร้อนเฉพาะจุดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งรวมถึงหลอดเลือดเล็ก ๆ ที่เข้ามาหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นการเสริมการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ร่วมกับการรักษาหลัก เช่น การฉายรังสี หรือ การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ในกระบวนการรักษาจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคำนวณจำนวนพลังงานความร้อนที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย รวมถึงมีการควบคุมระดับความร้อนให้สม่ำเสมอเหมาะสมตามแผนการรักษาและป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากความร้อน จากการสืบค้นข้อมูลในประเด็นความร้อนบำบัดโดยใช้ก้อนถ่านหุงต้มช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ทุกระยะและทุกอวัยวะของร่างกายนั้น พบว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าการใช้ความร้อนจากถ่านหุงต้มช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งควรพิจารณาและศึกษารายละเอียดการรักษาอย่างรอบคอบ เลือกวิธีการรักษาที่ได้มาตรฐานและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม!! อย่าแชร์!! สร้อยข้อมือแม่เหล็กป้องกันเซลล์มะเร็งไม่ให้ก่อตัว

ข้อเท็จจริง : ยังไม่ข้อมูลงานวิจัยที่ยืนยันว่าการใส่สร้อยข้อมือแม่เหล็กจะช่วยป้องกันมะเร็งในมนุษย์ได้ ข้อสรุป : ไม่จริง/ข่าวปลอม         ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าการใส่สร้อยข้อมือแม่เหล็กที่ผลิตจากไททาเนียมและเจอร์เมเนียมจะป้องกันเซลล์มะเร็งไม่ให้ก่อตัวขึ้นในร่างกายนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าไททาเนียมเป็นโลหะสีเงินส่วนใหญ่ใช้เป็นโครงสร้างในการผลิตอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร ส่วนเจอร์เมเนียมป็นธาตุกึ่งโลหะสีเทาเงินนิยมใช้ในการผลิตทรานซิสเตอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ ใยแก้วนำแสง เป็นต้น เจอร์เมเนียมมีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงมีงานวิจัยที่มีการนำเจอร์มาเนียมสกัดมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น การรักษาอาการอักเสบ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และยังมีข้อมูลว่าการรับประทานเจอร์เมเนียมสังเคราะห์ เช่น สไปโรเจอร์เมเนียม (spirogermanium) โพรพาเจอร์เมเนียม (propagermanium) อาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น มีผลข้างเคียงต่อไต ปอด และระบบประสาท อย่างไรก็ตามการใส่สร้อยข้อมือที่ผลิตจากไททาเนียมและเจอร์เมเนียมจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันมะเร็งในมนุษย์           แม้ว่าโรคมะเร็งจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและการตรวจคัดกรองมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองได้ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันมะเร็ง นอกจากนี้ควรสำรวจร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข