ข่าวปลอม อย่าแชร์! มะเร็งเทอร์โบ พบในคนอายุน้อยที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว
ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันยังไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันแน่ชัดว่าวัคซีนโควิด-19 เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ข้อสรุป : ข่าวปลอม วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นวัคซีนที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างสารแอนติบอดีต้านเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 โดยผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 อาจมีอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แม้ว่าวัคซีนชนิดนี้ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ การเผยแพร่คลิปวิดิโอที่มีเนื้อหาว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้คนที่มีอายุน้อยเป็นมะเร็งมากขึ้นและมะเร็งจะแพร่กระจายเร็วมากขึ้นซึ่งตามข่าวเรียกว่ามะเร็งเทอร์โบนั้น จากกการสืบค้นข้อมูลในปัจจุบันพบว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทุกชนิดจะต้องได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) และจะต้องผ่านการทดลองทางการแพทย์ที่เข้มงวดเพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนแต่ละตัวนั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์มาตรฐานด้านประสิทธิภาพความปลอดภัยและมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ของวัคซีนตามข้อกำหนดของภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern-PHEIC) ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้วจะไม่ก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือหากพบข้างเคียงที่รุนแรงจะพบในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข