รู้ทันมะเร็ง : แด่ผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  6 มิ.ย. 2557           เชื่อว่าคนไทยที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ ไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวเองให้ใครรู้เท่าใดนักว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความวิตกกังวลเรื่องผลกระทบที่จะมีผลต่อหน้าที่การงาน หรือเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อจิตใจของคนรักคนรอบข้าง จึงไม่อยากเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้ ตรงกันข้ามกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว การยอมรับความจริงเรื่องโรคร้ายที่เป็นและความกล้าที่จะเปิดเผยให้คนรอบข้างได้รับรู้เป็นเรื่องปกติของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและสมาคมวิชาชีพยังกำหนดวันและเดือนเพื่อการรณรงค์เรื่องโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ นอกจากนั้นภาคเอกชนยังช่วยสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์กันอย่างกว้างขวางโดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย           ยกตัวอย่างเช่นวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนเดือนนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเขากำหนดให้เป็นวันผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งแห่งชาติ ต่อเนื่องมาจนปีนี้เป็นปีที่ 27 แล้ว โดยมีหลายประเทศทั่วโลกที่ถือปฏิบัติเช่นกัน เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เพื่อเป็นการยกย่องให้เกียรติกับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สามารถต่อสู้ฟันฝ่ากับโรคร้ายนี้ รูปแบบงานที่จัดในแต่ละหน่วยงานหรือชุมชนทั่วประเทศมีความหลากหลายตั้งแต่ การเดินรณรงค์ การจัดนิทรรศการ ออกร้านต่างๆ การแสดงศิลปะ การแสดงภาพถ่ายการใช้ชีวิตของผู้รอดชีวิต การจัดงานสุขภาพและกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าครอบครัว สังคมชุมชนต่างๆ ให้กำลังใจกับผู้รอดชีวิต เป็นเวทีของการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลสุขภาพตนเองระหว่างผู้รอดชีวิต และยังเป็นกำลังใจที่สำคัญให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งที่ยังอยู่ในระหว่างการรักษา เรียกว่าเป็นการเฉลิมฉลองการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอยู่ประมาณ 14 ล้านคนทั่วสหรัฐอเมริกา เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิด…

รู้ทันมะเร็ง : เจรจารักษามะเร็ง : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  28 ก.พ. 2557           สถานการณ์การเมืองในบ้านเราเวลานี้ หลายคนเปรียบเปรยเหมือนโรคมะเร็งร้ายที่เกาะกินบ้านกินเมืองมาหลายปี ต่างฝ่ายต่างหาวิธีการรักษาตามวิธีการและความเชื่อของตนเอง แต่โรคร้ายก็ยังไม่มีทีท่าจะทุเลาหรือสงบลง แต่กลับยิ่งลุกลามบานปลายทวีความรุนแรงไปทั่วประเทศ เสมือนมะเร็งร้ายกำลังแพร่กระจายไปทั่วร่างกายยังไงยังงั้น           วกมาเข้าเรื่องเจรจารักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยจริงๆ กันดีกว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษามะเร็งของอวัยวะเดียวกัน แต่เป็นเซลล์มะเร็งคนละประเภทหรือเป็นเซลล์มะเร็งประเภทเดียวกันแต่คนละระยะของโรค วิธีการรักษาก็แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นคนที่อาจเคยมีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องเป็นมะเร็งอวัยวะนั้นอวัยวะนี้ แล้วมาเจรจาชักชวนให้ผู้ป่วยไปรักษาตามที่ตนเองรับรู้มาเพียงไม่กี่ราย อย่าไปทำแบบนั้นอีกเป็นอันขาด เพราะเป็นการทำบาปทำกรรมโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากไปให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับคนไข้ มิหนำซ้ำยังทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการหายขาดจากโรคอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้นที่มีโอกาสหายขาดสูง ถ้าได้รับการรักษาตามวิธีมาตรฐาน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้รักษาเค้าเป็นคนให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะดีซะกว่า ไม่ควรไปเชื่อพวกมาเจรจาด้วยข้อมูลที่บิดเบี้ยวแบบนี้         ส่วนการเจรจาที่ถูกต้องน่าเชื่อถือนั้น หลังจากที่ทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเป็นมะเร็งอวัยวะใด ระยะไหนแล้ว แพทย์ผู้รักษาจะให้ข้อมูลการรักษาที่ถูกต้องและครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจ การปฏิบัติตัวและที่สำคัญที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยากรู้แต่ไม่อยากเจอคือ เรื่องผลข้างเคียงของการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงของการให้ยาเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยมีโอกาสเจรจาซักถามข้อสงสัยต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงแพทย์อาจไม่มีเวลามาให้คำอธิบายได้ทั้งหมด เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนมากและในบางกรณีแพทย์ผู้รักษาอาจไม่สามารถเจรจากับตัวผู้ป่วยได้โดยตรง เนื่องจากญาติผู้ป่วยอาจขอร้องให้แพทย์ไม่บอกผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็ง…

รู้ทันมะเร็ง : รักษามะเร็งแบบทีมงานมืออาชีพ : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  27 ก.ย. 2556           สัปดาห์ที่แล้วคนไทยทั่วประเทศล้วนใจจดจ่อกับการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่สุดท้ายจบลงด้วยความสุขสมหวังของพี่น้องชาวไทยที่ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยสามารถคว้าชัยชนะได้แชมป์เอเชียไปอย่างสมศักดิ์ศรี เอาชนะทั้งทีมสาวจีนและสาวญี่ปุ่นแบบชนะใจคนดูอย่างไม่มีข้อกังขา ทำให้อยากพูดถึงการรักษามะเร็งแบบสหสาขาวิชาชีพแบบเป็นทีมเวิร์กอย่างทีมวอลเลย์บอลมืออาชีพของสาวไทยดูบ้าง                    โดยทั่วไปในการรักษามะเร็ง ถ้าเป็นเคสที่ตรงไปตรงมา ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาในการวินิจฉัยและการรักษา ก็ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาไปตามขั้นตอน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ต้องมาเข้าที่ประชุมขอความเห็นเรื่องแนวทางในการรักษา เว้นเสียแต่ว่าผลชิ้นเนื้อที่ออกมาหลังผ่าตัดเป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อย ก็อาจต้องมาเข้าที่ประชุมเพื่อขอแนวทางการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ แต่ในกรณีที่เป็นเคสที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการวินิจฉัยหรือปัญหาในแง่การรักษา           ยกตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งมาพบแพทย์ด้วยก้อนที่ตับหรือปอด แต่กระจายมาจากอวัยวะอื่นที่หาตัวแม่ไม่เจอ จะให้การรักษาไปเลยดีหรือจะตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมดี เช่น ตรวจย้อมชิ้นเนื้อด้วยวิธีพิเศษ เพราะการเสียเวลาไปทำการตรวจวินิจฉัยผิดทาง เสียเวลาไปทำการตรวจที่ไม่จำเป็น หรือไปทำการรักษาที่ผิดขั้นตอน ก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสทอง โอกาสสำคัญในการรักษา เคสผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องนำเข้าที่ประชุมวิชาการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็งหลากหลายสาขา เพื่อฟังความเห็นทั้งที่มาจากงานวิจัยงานวิชาการใหม่ๆ รวมถึงฟังจากประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ ส่วนใหญ่ที่ประชุมวิชาการในลักษณะนี้หรือที่เรียกกันทางภาษาแพทย์ว่า ทูเมอร์คอนเฟอร์เรนท์ มักมีการจัดการประชุมเป็นประจำทุกสัปดาห์ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการตรวจรักษาที่ครบทุกสาขาทางวิชาการทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนแพทย์หรือศูนย์มะเร็งที่มีการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ…

รู้ทันมะเร็ง : สร้างเต้านมใหม่หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  18 เม.ย.2557           แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดเต้านมออกทั้งข้างเรียบร้อยแล้ว จะทำใจยอมรับกับการสูญเสียอวัยวะสำคัญได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความต้องการเต้านมใหม่ เพื่อทดแทนการสูญเสียอวัยวะและการสูญเสียทางจิตใจและที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย                    สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ แต่ยังอยากมีเต้านมโดยไม่อยากพึ่งพาซิลิโคนภายนอกใส่ในเสื้อยกทรง ก็ยังมีการผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือ แบบแรกการผ่าตัดแบบใช้เต้านมเทียม แบบที่ 2 การผ่าตัดแบบใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายตัวเองมาทำเป็นเต้านมขึ้นมาใหม่ และแบบที่ 3 การผ่าตัดแบบใช้ทั้ง 2 วิธีข้างต้นร่วมกัน มาเริ่มกันที่แบบแรก การผ่าตัดแบบใช้เต้านมเทียม ก็เป็นการผ่าตัดโดยใช้วัสดุเต้านมเทียมเป็นถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือ ใส่เข้าไปในชั้นใต้กล้ามเนื้อแบบที่การผ่าตัดเสริมเต้านมเพื่อความงามทำกันทั่วไป แบบที่ 2 การผ่าตัดแบบใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายตัวเองมาทำเป็นเต้านมขึ้นมาใหม่ โดยใช้ทั้งผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อพร้อมทั้งหลอดเลือดที่เลี้ยงเนื้อเยื่อติดกันมาทั้งพวง แล้วย้ายมาวางที่ตำแหน่งเต้านมเดิม โดยนิยมใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังด้านข้างมาทำเต้านมเทียม และแบบที่ 3 การผ่าตัดแบบใช้ทั้ง 2 วิธีข้างต้นร่วมกัน…

รู้ทันมะเร็ง : รักษามะเร็งแบบเจาะจงตรงเป้าหมาย : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  10 ส.ค. 2555           กีฬาโอลิมปิกเกม 2012 ณ กรุงลอนดอนใกล้จะปิดฉากลงแล้ว เป้าหมายเหรียญรางวัลของทีมไทยเราอาจไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาทีมชาติทุกคนที่แม้จะยังไม่สมหวังวันนี้ ก็ขอให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนขยันหมั่นฝึกซ้อมอย่าท้อถอย ความฝันต้องเป็นจริงสักวันล่ะครับ เช่นเดียวกับการรักษามะเร็งที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ที่ต้องการให้ยาไปออกฤทธิ์แบบเจาะจงกับเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายโดยตรงและให้มีผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ต่างจากการให้ยาเคมีบำบัดแบบเดิมที่ไม่ว่าเซลล์ปกติเซลล์มะเร็งก็โดนยาสบักสบอมไปอย่างเท่าเทียมกัน แทนที่ก้อนมะเร็งจะยุบฝ่อลงกลับกลายเป็นว่าเกิดผลข้างเคียงกับเซลล์ปกติในระบบอื่นๆ ทำให้ร่างกายยิ่งแย่ลงไปอีก การรักษาแบบนี้มีการพัฒนามาในช่วง 10 กว่าปีและเริ่มนำมาใช้ในบ้านเราในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาษาอังกฤษเค้าเรียกว่าทาร์เก็ตเตดเทอราปี่ ภาษาไทยบางทีก็เรียกว่าการรักษาตามเป้าหมาย การรักษาพุ่งเป้า บางทีก็เรียกว่าการให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม            หลักสำคัญของการรักษาวิธีนี้คือการใช้ยาหรือสารบางชนิดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งโดยไปรบกวนการทำงานของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งนั้นๆ เรียกว่าเล่นงานเซลล์มะเร็งในระดับโมเลกุลเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนการส่งสัญญาณการเจริญเติบโตในระดับเซลล์ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัว รบกวนการทำงานของเอนไซม์ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่จะมาเลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งขาดอาหารขาดออกซิเจนและยังเป็นการตัดเส้นทางการกระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย และเมื่อเซลล์มะเร็งตายลงทั้งจากผลของยาโดยตรงและจากกระบวนการที่ไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายโดยตัวของมันเอง ยังส่งผลทางอ้อมโดยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายส่งสารเคมีที่เป็นพิษมาทำลายเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มแบบไม่ผิดฝาผิดตัวขนาดนี้ ผลการรักษาจึงดีกว่าการให้ยาเคมีบำบัดแบบเดิมอย่างชัดเจน             …

รู้ทันมะเร็ง : ตัดเต้านมป้องกันมะเร็ง : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  31 พ.ค. 2556           เป็นข่าวฮือฮาเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ก่อนไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเรา แต่ดังกระฮึ่มไปทั่วโลกเมื่อนางเอกสาวสุดเซ็กซี่วัย 37 ปี แองเจลินา โจลี ออกมายืนยันว่าเธอยอมตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งเต้านมเพราะเธอมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้ ทำเอาหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่ทั่วโลกออกอาการเสียดายของ ในขณะที่หญิงไทยจำนวนหนึ่งเกิดอาการหวาดระแวงอยากจะตัดเต้าทิ้งเลียนแบบคนดังกับเขาบ้าง                    ก่อนอื่นต้องขอเน้นย้ำกันตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าวิธีการตัดเต้านมทิ้งเพื่อหวังผลเรื่องที่จะไม่ต้องเป็นมะเร็งเต้านมนั้น ยังไม่เป็นวิธีการป้องกันที่เป็นมาตรฐานยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างแต่อย่างใด เพราะถึงจะตัดเต้านมออกทั้งสองข้างออกแล้วก็ตาม ก็ยังมีเซลล์เต้านมหลงเหลือตกค้างอยู่ตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและตามกล้ามเนื้ออยู่วันยังค่ำ เรียกว่าลดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม 90 เปอร์เซ็นต์แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์จากเซลล์เนื้อเต้านมที่ยังหลงเหลืออยู่ ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้นางเอกคนสวยต้องยอมสละของรักของสงวนก็เพราะเธอมีความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ คือยีนบีอาร์ซีเอ 1 ซึ่งคนที่มีความผิดปกติของยีนตัวนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 87 เปอร์เซ็นต์และเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ 50 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันได้จากที่มารดาของเธอเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมด้วยวัยเพียง 56 ปี นอกจากนั้นยายของเธอก็เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ ล้วนเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าครอบครัวของเธอมีความผิดปกติของยีนตัวนี้และเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดมะเร็งของทั้งสองอวัยวะ นอกจากนั้นยังมีความผิดปกติของยีนบีอาร์ซีเอ 2…

รู้ทันมะเร็ง : 7สัญญาณมะเร็งเต้านม

เครดิต : คมชัดลึก  22 พ.ค. 2558           นอกจาก 7 สัญญาณอันตรายที่หลายคนรู้จัก ว่าเป็นอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็ง อันได้แก่ “ระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดที่เปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบจนเรื้อรัง” ก็ยังมี 7 สัญญาณอันตรายของอาการที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน              เริ่มด้วยสัญญาณที่หนึ่ง มีก้อนที่เต้านมหรือที่รักแร้ เป็นอาการยอดนิยมอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงรีบมาพบแพทย์ ไม่ว่าจะแน่ใจหรือไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้องอกหรือเนื้อเต้านมที่หนาผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำหรือส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติม สัญญาณที่ 2 รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ต้องหมั่นสังเกตทั้งรูปทรงและขนาดของเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และควรเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของรอบเดือน ต่อด้วยสัญญาณที่ 3 มีน้ำผิดปกติไหลจากหัวนม ผู้หญิงในวัย 41-58 ปีอาจมีของเหลวที่ออกจากหัวนมทั้งสองข้างได้บ้างจำนวนเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนตามรอบเดือน แต่ถ้าออกจากหัวนมข้างเดียวหรือมีสีคล้ายเลือดก็ควรมาพบแพทย์ สัญญาณที่ 4 รูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปกติรูปร่างและขนาดของหัวนมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตามอายุขัยและน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นได้ แต่ที่ต้องระวังหมั่นสังเกตเป็นพิเศษคือ…

รู้ทันมะเร็ง : น้ำไหลจากหัวนม เป็นมะเร็ง? : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  31 ต.ค. 2557           สัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม ยังมีอีกหนึ่งภาวะที่รบกวนจิตใจคุณผู้หญิงอยู่เป็นระยะๆ คือการที่มีของเหลวออกมาจากหัวนม ทั้งจากที่ไหลซึมออกมาเองหรือจากการตรวจเต้านมด้วยตัวเองที่ต้องมีการบีบบริเวณหัวนมทุกครั้ง ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะลืมทำเป็นประจำ แม้ว่าปัญหาการมีของเหลวออกจากหัวนมจะพบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับปัญหาการคลำพบก้อนและอาการเจ็บเต้านม กล่าวคือพบเพียงร้อยละ 5 ของอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์                    ก่อนอื่นมารู้จักกายวิภาคบริเวณหัวนมและท่อน้ำนมกันก่อน ในเต้านมแต่ละข้างของคนเราจะมีท่อน้ำนมเล็กๆ หลายๆ ท่อมาเปิดที่หัวนมข้างละ 15-20 ท่อ เป็นเหมือนฝักบัวเล็กๆ ที่ผิวของหัวนม ดังนั้นกรณีที่มีของเหลวออกมาจากหัวนมทั้ง 2 ข้างหรือออกจากหัวนมข้างนั้นหลายๆ รูท่อเล็กๆ โดยเฉพาะในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยน่าวิตกกังวลมากนัก เพราะมักมีสาเหตุความผิดปกติทางสรีรวิทยาหรือระดับฮอร์โมนมีความผิดปกติ ยิ่งถ้าของเหลวมีสีขาวเหมือนน้ำนมหรือสีเหลือง น้ำตาลอ่อน ก็ไม่น่าตกอกตกใจเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงสูงอายุในวัยหมดประจำเดือน มีของเหลวออกจากหัวนมรูเดียว มีสีเลือดจางๆ หรือเป็นเลือด และหากคลำพบก้อนบริเวณรอบๆ หัวนมร่วมด้วยก็ต้องให้ความใส่ใจมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็อย่าเพึ่งวิตกกังวลไปเกินกว่าเหตุ…

รู้ทันมะเร็ง : ผู้ป่วยมะเร็งเหนื่อยแน่นท้องต้องระวัง : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  24 ส.ค. 2555           ผู้ป่วยมะเร็งทุกรายไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้วหรือยังอยู่ในระหว่างการรักษาก็ตาม หากเริ่มมีอาการเหนื่อยมากขึ้นหรือเริ่มมีอาการแน่นอึดอัดท้อง ท้องโตขึ้นกางเกงที่ใส่อยู่เริ่มคับทั้งๆ ที่ไม่ได้กินอาหารมากกว่าปกติ มิหนำซ้ำกลับเบื่ออาหารมากขึ้นซะอีก ใครมีอาการอย่างนี้ก็อย่านิ่งดูดาย รีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะนั่นอาจเป็นอาการเตือนของโรคมะเร็งที่กำลังลุกลามมากขึ้น                    อาการเหนื่อยที่มากขึ้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากมะเร็งแพร่กระจายมาที่อวัยวะในช่องทรวงอก ไม่ว่าจะเป็นปอด เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจหรืออาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะอื่น ระบบอื่นซึ่งอาจเกิดขึ้นใหม่หรือโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิมแต่เป็นมากขึ้น เช่น โรคไต โรคหัวใจ แต่อาการเหนื่อยที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักเกิดจากมะเร็งแพร่กระจายลุกลามมาที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอดมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำท่วมปอด ปกติช่องเยื่อหุ้มปอดมีเพียงน้ำหล่อลื่นฉาบอยู่เล็กน้อย เมื่อมีเซลล์มะเร็งลุกลามมาที่เยื่อหุ้มปอด เซลล์มะเร็งจะผลิตน้ำหรือสารคัดหลั่งมากขึ้น ทำให้ช่องเยื่อหุ้มปอดค่อยๆ มีน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปอดข้างนั้นไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ตามปกติ การรักษาใช้เข็มเจาะดูดน้ำออกเป็นครั้งคราวและฉีดยาเข้าไปแทนที่เพื่อให้เนื้อปอดติดกับเยื่อหุ้มปอดเป็นการปิดช่องเยื่อหุ้มปอดไปเลยหรืออาจจะใช้การใส่ท่อระบายน้ำคาไว้เลยแต่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากใส่แล้วมักถอดออกไม่ได้เพราะมีน้ำออกตลอดเวลา                 …

รู้ทันมะเร็ง : รักษามะเร็งแบบไร้รอยต่อ(ตอนจบ) : โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

เครดิต : คมชัดลึก  15 มี.ค. 2556           ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วว่าด้วยเรื่องรอยต่อในการรักษาโรคมะเร็งที่เกิดจากตัวระบบและรอยต่ออันเกิดจากขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษากันไปแล้ว มาต่อกันที่รอยต่อในขั้นตอนการรักษาและรอยต่ออันเกิดจากผู้ป่วยกันเลยดีกว่า          ก่อนจะเข้าสู่เรื่องรอยต่อในช่วงที่แพทย์ให้การรักษา หลังจากที่แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว ไม่ควรล่าช้าหรือมัวแต่โอ้เอ้วิหารรายทั้งแพทย์ผู้รักษาและตัวผู้ป่วยเพราะเซลล์มะเร็งแบ่งตัวแบบไม่มีวันหยุดราชการ ยิ่งได้รับการรักษาได้เร็วเท่าไร โอกาสที่จะได้ผลดีในการรักษายิ่งมีมากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจแล้วพบว่าเป็นมะเร็ง ควรได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อ หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลืองและหลอดน้ำเหลืองบริเวณนั้นออกไปทั้งหมดโดยเร็ว ยิ่งทอดเวลาออกไปมาก โอกาสที่เซลล์มะเร็งที่เปรียบเสมือนตัวต่อตัวแตนที่เพิ่งจะโดนแหย่รังจะแพร่กระจายออกไปอวัยวะอื่นยิ่งมีมาก                    อีกกรณีที่พบบ่อยคือรอยต่อในช่วงที่จะให้การรักษาคือการต้องรอเตียงห้องผู้ป่วยหนักหรือห้องไอซียูให้ว่างก่อนจึงจะสามารถผ่าตัดใหญ่ให้ผู้ป่วยได้ เพราะการผ่าตัดมะเร็งหลายอวัยวะที่ใช้เวลาผ่าตัดนานหลายชั่วโมง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร หลังผ่าตัดวันสองวันแรกจึงจำเป็นต้องอยู่ห้องไอซียูเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย นอกจากนั้นอีกกรณีที่พบบ่อยคือการรักษามะเร็งหลายอวัยวะจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายวิธีการร่วมกัน เช่น หลังผ่าตัดใหญ่แล้วอาจต้องตามด้วยการฉายรังสี หรือการให้ยาเคมีบำบัดทันทีที่แผลผ่าตัดหายแล้ว โดยทั่วไปก็ประมาณหนึ่งเดือนหลังผ่าตัดควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องไม่ควรล่าช้าเช่นเดียวกัน           …