ข่าวบิดเบือน อย่าแชร์! 9 อาหาร ที่เด็กไม่ควรรับประทาน เนื่องจากเสี่ยงเป็นมะเร็ง

ข้อเท็จจริง : องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) จัดให้เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และสารอะคริลาไมด์ (สารที่เกิดจากอาหารจำพวกแป้งที่ผ่านความร้อนสูง) เป็นสารกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงในการก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อมโยงว่าการรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุกกี้ ไอศครีม มันฝรั่งแผ่นทอด ผลไม้อบแห้ง หมากฝรั่ง ขนมเยลลี่และวุ้นสำเร็จรูป ชานม ทำให้เกิดมะเร็ง จากการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการสามารถจัดกลุ่มอาหารดังกล่าวได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทั่วไป ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คุกกี้ ไอศครีม มันฝรั่งแผ่นทอด ผลไม้อบแห้ง หมากฝรั่ง ขนมเยลลี่และวุ้นสำเร็จรูป ชานม สามารถรับประทานได้ หากผ่านการผลิตตามมาตรฐานและถูกสุขลักษณะ แต่ควรจำกัดปริมาณการรับประทาน เนื่องจากอาหารดังกล่าวมีส่วนผสมผสมของไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียม ในปริมาณสูงอาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาหารที่อาจทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ หากรับประทานในปริมาณมาก รับประทานซ้ำบ่อยๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ผ่านการคลุกเกลือ…

ข่าวปลอม อย่าแชร์! โปรตีนจากอกไก่ปั่นไข่ขาว  เป็นอาหารเลี้ยงเซลล์มะเร็ง

    ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าโปรตีนจากอกไก่ปั่นไข่ขาว เป็นอาหารเลี้ยงเซลล์มะเร็ง โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่ร่างกายต้องการมีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างสารภูมิต้านทานเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ เป็นต้น จากการเผยแพร่ข้อมูลว่าโปรตีนจากอกไก่ปั่นไข่ขาว เป็นอาหารเลี้ยงเซลล์มะเร็งนั้น จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าอกไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่ให้พลังงานสูงและอุดมไปด้วยโปรตีนจำนวนมาก มีไขมันน้อย ส่วนไข่ขาวจัดเป็นโปรตีนคุณภาพดีมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งการรับประทานโปรตีนเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนนั้น ร่างกายจะไปสลายโปรตีนในกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานแทนทำให้ร่างกายทรุดโทรม ขาดสารอาหาร นอกจากนี้การขาดโปรตีนในผู้ป่วยมะเร็งจะมีผลให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำซึ่งมีผลกระทบต่อการรักษา ดังนั้นการรับประทานอกไก่และไข่ขาว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งและไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ดื่มน้ำอัดลมทำให้เป็นโรคมะเร็ง

ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการดื่มน้ำอัดลมทำให้เป็นโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ น้ำอัดลม คือ เครื่องดื่มที่อัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเพื่อให้มีความซ่า ในน้ำอัดลมประกอบด้วยน้ำตาล กรดคาร์บอนิก กรดฟอสฟอริก สารแต่งสีและกลิ่น โดยน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ในน้ำอัดลม 1 กระป๋อง (ขนาด 325 ซีซี) มีปริมาณน้ำตาล 8-12 ช้อนชา องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาหรือประมาณ 24 กรัม ซึ่งการบริโภคน้ำอัดลมร่วมกับอาหารที่มีน้ำตาลปริมาณสูงจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกินปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้กรดคาร์บอนิก กรดฟอสฟอริก ที่มีอยู่ในน้ำอัดลมอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ฟันผุ และกระดูกพรุนได้ อย่างไรก็ตามจากการเผยแพร่ข้อมูลว่าดื่มน้ำอัดลมทำให้เป็นโรคมะเร็งได้นั้น ปัจจุบันไม่พบงานวิจัยที่รายงานความเชื่อมโยงของการดื่มน้ำอัดลมกับการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ น้ำอัดลมมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ มีแคลอรี่สูง รวมทั้งมีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังนั้นผู้บริโภคควรลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! หากสัมผัสโดนสารกันบูดในปลาทูนึ่งจะเป็นมะเร็งผิวหนัง

ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่งส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังในมนุษย์ได้ สารกันบูดเป็นสารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาโดยการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหาร ตัวอย่างของสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก พาราเบนส์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และซัลไฟต์ เป็นต้น สารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้จะผ่านการประเมินความปลอดภัยและมีการกำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการการสุ่มตรวจหรือสำรวจปริมาณการตกค้างของสารเหล่านี้ให้อยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐาน จากกรณีที่เป็นข่าวว่าการสัมผัสสารกันบูดในปลาทูทำให้เป็นมะเร็งที่มือนั้น จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้วซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด อย่างไรก็ตามหากมีแผลที่มือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เพราะจะทำให้การหายของแผลช้าลงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรเลือกซื้อปลาทูนึ่งจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และก่อนรับประทานควรนำมาผ่านความร้อนทุกครั้ง ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! มะเร็งเทอร์โบ พบในคนอายุน้อยที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว

  ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันยังไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันแน่ชัดว่าวัคซีนโควิด-19 เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ข้อสรุป : ข่าวปลอม วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นวัคซีนที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างสารแอนติบอดีต้านเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 โดยผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 อาจมีอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แม้ว่าวัคซีนชนิดนี้ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ การเผยแพร่คลิปวิดิโอที่มีเนื้อหาว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้คนที่มีอายุน้อยเป็นมะเร็งมากขึ้นและมะเร็งจะแพร่กระจายเร็วมากขึ้นซึ่งตามข่าวเรียกว่ามะเร็งเทอร์โบนั้น จากกการสืบค้นข้อมูลในปัจจุบันพบว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทุกชนิดจะต้องได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) และจะต้องผ่านการทดลองทางการแพทย์ที่เข้มงวดเพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนแต่ละตัวนั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์มาตรฐานด้านประสิทธิภาพความปลอดภัยและมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ของวัคซีนตามข้อกำหนดของภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern-PHEIC) ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้วจะไม่ก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือหากพบข้างเคียงที่รุนแรงจะพบในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีการรักษาโรคมะเร็ง ไม่ให้ทำคีโมรักษา แต่ให้กำหนดลมหายใจตัวเองและกินอาหารที่ไม่เป็นกรดก็หายมะเร็งได้

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าการกำหนดลมหายใจตัวเอง และกินอาหารที่ไม่เป็นกรด จะรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่าการทำคีโม คือ การใช้ยาเข้าไปหยุดหรือชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามีประโยชน์กับผู้ป่วย สามารถรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดให้หายขาดได้ เช่น มะเร็งเม็ดโลหิต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลูกอัณฑะ แม้ว่าการรักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียง แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นคว้ายาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ ๆ ที่ให้ผลข้างเคียงลดน้อยลงกว่ายาเคมีบำบัดกลุ่มเดิม รวมถึงยังมีแนวทางและยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลว่าการกำหนดลมหายใจตัวเอง และการกินอาหารที่ไม่เป็นกรดจะรักษามะเร็งในมนุษย์ได้นั้น จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าวิธีการดังกล่าวไม่สามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งหลายแนวทาง เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้า การรักษามะเร็งเฉพาะจุด เป็นต้น โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งสุขภาพของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของแพทย์ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! การกินคีโต การทำ IF และการกินผักที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์เป็นวิธีลดผลข้างเคียงในการทำคีโม

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าการกินคีโต การทำ IF และการกินผักที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์เป็นวิธีลดผลข้างเคียงในการทำคีโม คีโมหรือเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้ยาหลายรูปแบบ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งการทำคีโมอาจมีผลทำให้เซลล์ปกติของร่างกายถูกทำลายโดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร ผมร่วง ร้อนใน มีแผลในเยื่อบุต่าง ๆ ภูมิต้านทานต่ำ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา รวมทั้งสภาวะความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดการรักษาอาการต่าง ๆ ก็จะหายไป จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าวิธีลดผลข้างเคียง ในการทำคีโม โดยเน้นการกินอาหารที่มีไขมันและโปรตีน ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (การกินคีโต)  การอดอาหารโดยการทำ Intermittent Fasting (IF) รวมทั้งการกินผักที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์นั้น ไม่สามารถลดผลข้างเคียงในการทำคีโมได้ เนื่องจากหากร่างกายของผู้ป่วยที่ทำคีโมอยู่ในภาวะขาดอาหาร อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลเสียต่อการรักษา และการรับประทานอาหารครบหมู่ตามความต้องการของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ช่วงการทำคีโมควรงดการกินผักและผลไม้สด เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยที่ทำคีโมควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮล์…

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอด เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอดทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง กระดาษทิชชู (tissue paper) มีทั้งที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (เยื่อกระดาษจากต้นไม้) และจากเยื่อเวียนใหม่ กระดาษทิชชูจึงแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามประโยชน์ใช้สอย เช่น กระดาษเช็ดหน้า การะดาษชำระ กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ เป็นต้น สำหรับการผลิตกระดาษทิชชูจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์จะมีการนำเยื่อกระดาษมาตีผสมกับน้ำ ฟอกเยื่อกระดาษให้มีสีขาวแล้วนำมารีดอบเป็นแผ่น ส่วนการผลิตกระดาษทิชชูจากเยื่อเวียนใหม่จะมีการใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟเพื่อตีปั่นวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อกระดาษ และใช้สารคลอรีนไดออกไซด์ในกระบวนการฟอกขาว จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนล้างทำความสะอาดเพื่อขจัดสารเคมีต่าง ๆ จนได้มาตรฐานก่อนรีดอบเป็นแผ่นต่อไป สำหรับความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีจากกระดาษทิชชูจะปนเปื้อนสู่อาหารหากนำมาใช้ซับน้ำมันในอาหารประเภททอดนั้น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอดทำให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามหากต้องการซับน้ำมันในอาหารควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาสำหรับใช้กับอาหารโดยเฉพาะเท่านั้น นอกจากนี้ควรเลือกใช้กระดาษทิชชูที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและควรใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ตามการใช้งาน ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! การทำเมมโมแกรม เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าการทำเมมโมแกรม เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับตรวจเต้านมโดยเฉพาะ วิธีนี้เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้ การตรวจแมมโมแกรมแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีความเสี่ยง ได้แก่ มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนเสริมทดแทนในวัยทองเป็นเวลานานกว่า 5 ปี เป็นต้น จากการเผยแพร่ข้อมูลว่าการทำแมมโมแกรมเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมนั้น จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าการทำแมมโมแกรมไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม แม้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะทำให้ได้รับรังสี แต่ก็อยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ จึงมีความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมในช่วงสัปดาห์ก่อนที่มีประจำเดือน เพื่อลดความเจ็บ สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือมีความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ควรมีการแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวปลอม อย่าแชร์! มังคุดนึ่งรักษาโรคมะเร็ง

ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่ามังคุดนึ่งรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ มังคุด (mangosteen) ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia mangostana Linn สรรพคุณของมังคุดตามตำรับยาไทยส่วนใหญ่ใช้แก้ท้องเสียและสมานแผล จากการสืบค้นงานวิจัยพบว่าเปลือกมังคุดมีสารแซนโทน ได้แก่ แมงโกสติน (mangostin) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ จึงมีการนำสารสกัดจากเปลือกมังคุดมาศึกษาวิจัยในระดับเซลล์พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองที่ศึกษาในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังไม่พบหลักฐานงานวิจัยทางคลินิก การเผยแพร่ข้อมูลว่ามังคุดนึ่ง รักษาโรคมะเร็ง จากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามังคุดที่ผ่านการนึ่งแล้วนั้น สารแซนโทนที่อยู่ในเปลือกมังคุดไม่ได้ซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อมังคุดแต่อย่างใด ดังนั้นการรับประทานมังคุดนึ่งไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่ามังคุดนึ่ง รักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ ในเปลือกมังคุดมีสารกลุ่มแทนนินอยู่ด้วย การนำมังคุดไปนึ่งอาจทำให้สารแทนนินซึมเข้าสู่เนื้อมังคุด เมื่อรับประทานเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นควรรับประทานมังคุดแบบผลสด ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800 หน่วยงานที่ตรวจสอบ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข